อนามัยโลกชี้ ประชากร 1 ใน 4 เสี่ยงมี ‘ปัญหาการได้ยิน’ ภายในปี 2050
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุในรายงานว่าภายในปี 2050 จะมี 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลก รวมแล้วเกือบ 2.5 พันล้านคน ที่อาจมีปัญหาด้านการได้ยินในระดับต่างๆ และอย่างน้อยจะมี 700 ล้านคนที่ต้องเข้ารับการรักษาด้านการได้ยินหรือบริการฟื้นฟูประเภทอื่น หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้
องค์การฯเผยแพร่รายงานระดับโลกว่าด้วยการได้ยิน (World Report on Hearing) ฉบับแรก ก่อนจะถึงวันการได้ยินโลก (World Hearing Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มี.ค. โดยย้ำถึงความสำคัญในการยกระดับการดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสูญเสียการได้ยิน ด้วยการลงทุนและขยายการเข้าถึงบริการทางสุขภาพเกี่ยวกับหูและการได้ยิน
รายงานระบุว่าเราสามารถป้องกันปัญหาการสูญเสียการได้ยินของเด็กๆ เกือบร้อยละ 60 ได้ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ฉีดวัคซีนต้านโรคหัดเยอรมันและโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พัฒนาบริการดูแลมารดาและทารกแรกเกิด รวมถึงคัดกรองหรือจัดการภาวะหูชั้นกลางอักเสบอย่างทันท่วงที
สำหรับวัยผู้ใหญ่ ควรมีการควบคุมระดับเสียง รณรงค์การฟังอย่างปลอดภัย ควบคุมดูแลการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู และรักษาความสะอาดรูหู เพื่อให้ศักยภาพการได้ยินอยู่ในระดับดีและลดโอกาสที่จะสูญเสียการได้ยิน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดแคลนข้อมูลที่ถูกต้อง และการตราหน้าผู้ที่ป่วยโรคเกี่ยวกับหูหรือผู้สูญเสียการได้ยิน มักจะส่งผลให้ผู้คนเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องได้อย่างไม่เต็มที่ สถิติขององค์การฯเผยว่าระบบสุขภาพแห่งชาติของประเทศส่วนมากไม่มีบริการรักษาหูหรือการได้ยิน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องจึงเผชิญความท้าทายในการเข้าถึงบริการรักษา
ปัญหาใหญ่ที่สุดในระบบสุขภาพคือปัญหาบุคลากร โดยร้อยละ 78 ของประเทศรายได้ต่ำมีผู้เชี่ยวชาญด้านหู-คอ-จมูกน้อยกว่า 1 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จะผสานบริการรักษาหูและการได้ยินไว้ในระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานของประเทศ
“ปัญหาสูญเสียการได้ยินที่ไม่ได้รับการแก้ไขส่งผลกระทบอย่างมากต่อศักยภาพในการสื่อสาร เรียนรู้ และหาเลี้ยงชีพของประชาชน” ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การฯกล่าว