สังคม

heading-สังคม

หมอประสิทธิ์ พูดเองกลางรายการ โควิดรอบนี้น่าห่วงมาก มีความเสี่ยง 4 อย่าง

09 เม.ย. 2564 | 15:06 น.
หมอประสิทธิ์ พูดเองกลางรายการ โควิดรอบนี้น่าห่วงมาก มีความเสี่ยง 4 อย่าง

หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้ออกมาสัมภาษณ์ "ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรณีโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่

จากกรณีการระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดต้อนรับวันหยุดสงกรานต์ 2564 ซึ่งรอบนี้ เป็นการติดจากสถานบันเทิง ผับ บาร์ เป็นจำนวนมาก จากนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกมาเตือนสถานบริการและร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้คุมเข้มในเรื่องของมาตรการการคัดกรองโควิด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดในรายการโหนกระแส "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้ออกมาสัมภาษณ์ "ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรณีโควิดระบาดระลอกใหม่ ที่ตอนนี้มีคนติดหลากหลายวงการ เอาอยู่หรือไม่ วัคซีนช่วยเหลือได้จริงหรือเปล่า

ครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าครั้งแรกมั้ย?
"ครั้งนี้มีเรื่องมาประจวบเหมาะกันใหญ่ๆ ที่ทำให้ผมเป็นห่วงมากขึ้น ครั้งนี้มี 4 เสี่ยงเกิดขึ้นพร้อมกัน ครั้งนี้มีปัจจัยเสริม 2 เรื่อง ผมเคยพูดหลายครั้งว่าการเกิดระบาดโควิด-19 อย่าให้เกิดความเสี่ยง 4 อย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน หนึ่งบุคคลเสี่ยง สองพื้นที่เสี่ยง สามกิจกรรมเสี่ยงและสี่ช่วงเวลาเสี่ยง ซึ่งตอนนี้เป็นเสี่ยง 4 อย่างที่จะมาเจอกัน ช่วงเวลาเสี่ยงคือวันหยุดยาว ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่น่ากลัว ขณะเดียวกันพื้นที่เสี่ยงในเวลานี้ หากจำกันได้ที่สมุทรสาครพื้นที่เสี่ยงคือตลาด เราสามารถตีกรอบควบคุมได้ แต่คราวนี้พื้นที่เสี่ยงคือสถานบันเทิง ซึ่งมีเยอะมาก และคนไปเที่ยวสถานบันเทิงก็ไปกระจัดกระจาย บางคนไปมากกว่าหนึ่งที่ ตรงนี้พื้นที่เสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว ยังมีจังหวัดเสี่ยงครอบคลุมในส่วนนี้ อีกอย่างคือกิจกรรมเสี่ยงคือถึงแม้หน่วยงานราชการกทม.จะปิดผับ แต่ถ้าคนไปดื่มเหล้าที่บ้าน คนจำนวนเยอะไปอยู่ด้วยกัน ละเลยความระมัดระวัง เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ส่วนบุคคลเสี่ยง ตอนนี้เนื่องจากสืบสวนยากมาก นี่คือ 4 เสี่ยงที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันที่ผมห่วงมาก"

"การแก้ไขคือต้องลดความเสี่ยงลงให้ได้ เราลดช่วงเวลาเสี่ยงไม่ได้ แต่เราลดสถานที่เสี่ยง นี่เป็นเหตุผลที่กทม.ปิดผับ ตอนนี้หลายๆ จังหวัดในประเทศไทย 41 จังหวัดเท่าที่ทราบ มีการประกาศปิดผับแล้วเพื่อลดพื้นที่เสี่ยง แต่แค่นี้ไม่พอ ถ้าเราไม่ย้ำให้ประชาชนลดกิจกรรมเสี่ยง ขณะนี้มีการลดกิจกรรมเสี่ยงบางอย่างแล้ว เช่นไม่ให้มีการแสดงคอนเสิร์ต สนามมวยไม่ให้มีคนเข้าไปเชียร์ ลดกิจกรรมเยอะๆ ที่มีคนอยู่ในพื้นที่ปิด เหล่านี้เป็นต้น อันนี้ทำเป็นคู่ขนานกันไป"

"แต่มีสองเรื่องที่เป็นตัวเสริมคือเรื่องสายพันธุ์ซึ่งต่างไปจากเดิม แต่เดิมเราไม่เคยคุยกันเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ครั้งนี้มีการพิสูจน์แล้วว่าสายพันธุ์สหราชอาณาจักร ซึ่งถูกพบครั้งแรกเดือนก.ย. ปีที่แล้ว ณ ตอนนี้ต้องเรียนว่า 78 เปอร์เซ็นต์สายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในสหราชอาณาจักรคือสายพันธุ์นี้ ซึ่งตอนเกิดเหตุ ก.ย. ต.ค.ปีที่แล้ว ทำให้สหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อ 6 หมื่นรายต่อวัน ติดมากถึงขนาดทำให้สหราชอาณาจักรตัดสินใจฉีดวัคซีนเป็นประเทศแรกของโลก เพราะเอาไม่ลง ปัจจุบันถือว่าพันสองพัน แต่ที่พูดตรงนี้ เพราะชัดเจนว่าวัคซีนมีผล"

"ถ้าได้มีโอกาสกลับไปดู วันที่ 5 ที่ผ่านมา ผมออกโซเชียลไปชุดนึง เมื่อมีวัคซีนออกมา ประเทศเอาอยู่กับเอาไม่อยู่ มันมีตัวเลขบางอย่างบอกเรา ซึ่งตัวเลขตรงนี้เรายังห่างไกลตรงนั้น อันต่อไปที่เป็นตัวแปรที่สำคัญคือช่วงนี้เราการ์ดตก เราเจอสายพันธุ์ที่แพร่ง่าย ขณะเดียวกัน ความระวังเราตก เรามีการสำรวจคนไทยเป็นระยะๆ ตกหมดทุกประเภท หน้ากากตก ล้างมือตก ไม่มีระยะห่าง ยิ่งช่วงเข้าใกล้เทศกาล คนอยู่ในอารมณ์สนุกสนน นี่เป็นเหตุการณ์ที่คนไปอยู่ในสถานบันเทิงและไม่ระวังตัว เพราะอยากสนุกสนาน ประจวบกับเชื้อที่แพร่ง่าย มันมาเจอกัน บวกกับสี่เสี่ยงนี่แหละ ที่ต้องรีบเตือน เพราะอาทิตย์หน้าเสี่ยงตัวที่ 4 มา คือช่วงเวลาเสี่ยง คือสงกรานต์ ที่วันนี้ต้องมาคุยกัน ถ้าเราเห็นตัวเลขที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางประเทศตะวันตกแห่งหนึ่งในช่วงเทศกาลยาว คนเดินทางข้ามพื้นที่ทั้งที่รัฐบาลเตือนแล้ว สุดท้ายมันกระจายไปเยอะมาก สงกรานต์นี้ผมเชื่อว่าปีที่แล้วหลายคนไม่ได้ไปเยี่ยมครอบครัว ไม่ได้ไปกราบพ่อแม่ ปีนี้ตั้งใจจะไปเต็มที่ แต่พอเจอเหตุการณ์นี้ ผมเรียนนะครับ ศิริราชเราเจอคนที่ไม่ได้มีอาการอะไรเลย เพียงแต่มีประวัติไปพื้นที่ที่พบว่ามีคนติดเชื้อ แล้วเดินเข้ามาตรวจ แล้วก็ตรวจเจอเยอะด้วย ตอนนี้เตียงที่เตรียมไว้มีไม่พอแล้ว เราต้องเพิ่มเตียงแล้ว"

หมอประสิทธิ์ พูดเองกลางรายการ โควิดรอบนี้น่าห่วงมาก มีความเสี่ยง 4 อย่าง

ตอนนี้มีประมาณกี่คน?
"ตอนนี้เรามีคนไข้มาแล้ว 60 คน ซึ่งปัญหาคือถ้ากลุ่มอื่นไม่ใช่โควิด คนไข้ที่เป็นมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ เราก็ไม่อยากลดการรักษาเขา ตอนนี้หลายรพ. คนไข้เข้าไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ กทม.เปิดรพ.สนามแน่นอน และต้องหลายที่ด้วย เพราะมันขึ้นมาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะขึ้นต่อเนื่องไปอีก ที่ห่วงนิดเดียวคือมีคนที่ไม่รู้ตัวเองติด แต่พอดีไปพื้นที่แล้วมาให้เราตรวจ และเจอ และคนเหล่านี้แหละที่อาทิตย์หน้านั่งรถกลับบ้านต่างจังหวัดไปหาพ่อแม่ แล้วนึกภาพถ้าท่านไม่รู้ตัวว่าติด แล้วไปแพร่ให้พ่อแม่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุและเป็นกลุ่มเสี่ยง ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราคงจะเสียใจไปตลอดชีวิต ฉะนั้นผมว่าสงกรานต์ปีนี้ต้องกลับมาทบทวนแล้ว ถ้าไม่จำเป็นเยี่ยมท่านทางไกลเถอะ มันจำเป็นจริงๆ อย่าไปไหน ผมเชื่อว่าพ่อแม่ท่านเข้าใจ แต่ถ้าจะไปจริงๆ ขอร้องจริงๆ หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ยิ่งอยู่ในบ้านยิ่งต้องใส่ เพราะเราพูดถึงบุคคลเสี่ยงต่อการเสียชีวิต มีโรคประจำตัว"

ขอโฟกัสที่ตัวเชื้อ สายพันธุ์สหราชอาณาจักร ติดง่ายขนาดไหน?
"ตอนอู่ฮั่น เริ่มไปทางตะวันตก ผมเคยเล่าให้ฟังว่าทางตะวันตกเริ่มตั้งข้อสังเกตว่าทำไมมันแพร่เร็วกว่าที่จีน แล้วเริ่มมีการค้นพบสายพันธุ์ จริงๆ สายพันธุ์นี้พบมาตั้งแต่เดือนมี.ค. เม.ย ปีที่แล้ว แต่พบเป็นทางการ ก.ย. ปีที่แล้ว ตอน ก.ย.ที่เจอ ไม่กี่เดือนต่อมา พ.ย. ขึ้นมาเป็น 2 ใน 3 ขณะนี้เป็น 4 ใน 5 เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์แล้วของสายพันธุ์ในสหราชอาณาจักร มันมีการพัฒนาในตำแหน่งรหัสพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้ ที่ทำให้แพร่กระจายได้เร็ว ไม่อยากเรียกว่าเป็นข้อดี B117 สายพันธุ์นี้พบว่าคนติดเชื้อไม่ได้รุนแรงมากขึ้น

"ไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม แต่แน่นอน เมื่อจำนวนติดเยอะมากขึ้น ก็จะมีคนจำนวนนึงที่รุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นคือถ้าจำนวนคนรุนแรงเยอะจนหออภิบาลผู้ป่วยหนักไม่พอ อัตราการตายจะไปเร็ว ตอนนี้ที่ทุกประเทศห่วงคืออย่าให้ระบาดเยอะ ถ้าระบาดหนักเกินศักยภาพรพ. ที่จะดูแลคนไข้หนักๆ จะมีการตายเยอะ เพราะรักษาไม่ไหว ทรัพยาการไม่พอ แต่ตอนนี้สายพันธุ์ที่เราห่วงมากกว่านั้นมีอีก 2 สายพันธุ์ซึ่งภาวนาอยู่ว่าอย่าเข้ามาและระวังเต็มที่ คือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จริงๆ มันมีมาระยะนึงแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาปรากฎตอนนี้ แต่สายพันธุ์นี้ ต้องบอกว่าบริษัทวัคซีนอย่างน้อย 3 บริษัท ไม่ว่าจะแอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์, โมเดอร์น่า มีการพูดว่าสายพันธุ์นี้ประสิทธิภาพวัคซีนอาจจะด้อยลง"

ด้อยลงหรือเอาไม่อยู่?
"ด้อยลง เพราะไม่ได้เยอะพอที่เราจะไปศึกษา อีกอย่างปกติแล้วโควิดเราไม่ได้ไปถอดรหัสพันธุกรรมทุกครั้ง ไม่งั้นค่าใช้จ่ายบานเลย เป็นสายพันธุ์ใดก็แล้วแต่ถ้าทุกคนรักษาตัวเอง รักษาระยะห่างมันจัดการได้หมด การกลายพันธุ์ของไวรัสเราไม่กลัว ถ้าเราใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง มันก็เข้าตัวเราไม่ได้ แต่พอชะล่าใจ ติดเข้ามาและแพร่เร็ว สัดส่วนคนที่หนักจะเพิ่มไปตามส่วน เมื่อไหร่ทะลุศักยภาพรพ. เรื่้องใหญ่แล้ว แล้วอีกสายพันธุ์คือบราซิล ผมเอากราฟมาให้ดูเมื่อวันที่ 5 ที่ผ่านมา ทั่วโลกเริ่มกลับมาเข้าสภาพคล้ายเดิม คือวันนึง 6 แสนกว่าราย สองวันหนึ่งล้าน เราเริ่มกลับมาคล้ายของเดิม บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่สถานการณ์แย่มาก 88 เปอร์เซ็นต์ที่ระบาดในบราซิล คือสายพันธุ์ของบราซิลเอง ตอนนี้เราห่วง ตัวย่อคือ P1 เป็นสายพันธุ์ที่เราไม่รู้จักธรรมชาติของมันดีนัก เพียงแต่มีคนคาดการณ์ว่ามันอาจจะรุนแรงขึ้น เรายังไม่รู้เพราะมันยังมีอยู่เฉพาะในบราซิล แต่ต้องพูดให้ฟังนะครับ ว่าเดือนที่แล้วไปปรากฎในสหรัฐอเมริกาแล้ว  และสหราชอาณาจักรแล้ว สายพันธุ์ P1 นี่แหละ ซึ่งต้องไม่ให้เข้ามาโดยเด็ดขาด ต้องป้องกัน"

หวั่นใจมั้ย อ่านข่าวว่ามีคนเดินทางกลับจากอังกฤษ และเจอตัวนี้ รักษาต่างๆ นานา แล้วก็เงียบหายไป แล้วจู่ๆ มาโผล่สถานบันเทิง?
"พูดตรงๆ เราคงมองภาพในประเทศไทยออกแหละ  เราก็เห็นกันอยู่ ทำไมคนไข้จากพม่า ยังเข้ามาถึงกรุงเทพฯได้ มีคนไปรับมาด้วยซ้ำ ผมไม่อยากพูดอะไรจนเกินไป แต่มันมีโอกาสมีไง ณ วันนี้เราก็ตั้งคำถามอยู่ว่าสายพันธ์สหราชอาณาจักรมันมาทองหล่อได้ยังไง สิ่งที่เรารู้ตอนนี้คือมันมาแล้ว แต่ก็เป็นบทเรียน อย่าให้อีก 2 สายพันธุ์เข้ามานะ"

หมอประสิทธิ์ พูดเองกลางรายการ โควิดรอบนี้น่าห่วงมาก มีความเสี่ยง 4 อย่าง

วัคซีนสายพันธุ์ B117 เอาอยู่มั้ย?
"โดยรวมแล้วสายพันธุ์สหราชอาณาจักร วัคซีนที่ผลิตออกมาตอนนี้เอาอยู่ เพราะสายพันธุ์นี้มันมาเรารู้ตั้งแต่พัฒนาวัคซีน แต่สายพันธุ์อันใหม่อย่างที่เรียน ยังไม่รู้และอาจไม่อยู่ สองวัคซีนที่มาเมืองไทย ซิโนแวคก็ดี แอสตร้าเซนเนก้าก็ดี ยืนยันว่ายังจัดการสายพันธุ์นี้ ตัวเลขที่ผมให้ไป อยากให้สังคมมองนิดนึง ตรวจ 20 คน 70 เปอร์เซ็นต์เจอสายพันธุ์นี้ แต่เราไม่ได้ตรวจอีกเป็นร้อย ไม่ใช่ว่าสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์หลักนะ นี่แค่ 20 คนที่เราเอามาตรวจและเจอแบบนั้น ในความเป็นจริงไม่ต้องประเมิน ให้รู้ว่ามาแล้ว ให้รู้ว่าสายพันธุ์ใดก็แล้วแต่ แต่เราป้องกันอยู่ตลอด ตอนนี้ดึงการ์ดขึ้น อย่าไปโฟกัสว่าเราติดสายพันธุ์ที่แปรพันธุ์มาหรือเปล่า ไม่มีสาระเลย ถ้าเรารักษาสิ่งเหล่านี้เราทำได้อยู่แล้ว ที่ฉีดวัคซีน ตอนนี้ในบางประเทศที่ห่วงอยู่แล้ว พอฉีดวัคซีนเสร็จก็คิดว่าจะปลอดภัยเต็มที่ ก็เลยละเลยการใส่หน้ากาก สหรัฐเตือนตั้งแต่ฉีดวัคซีน วัคซีนที่ฉีดตอนนี้ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าท่านจะไม่ติดเชื้อ ตั้งเป้าหมายแค่ว่าถ้าท่านติดเชื้อ ท่านจะไม่รุนแรงและไม่เสียชีวต โดยหลักคือแบบนั้น ทำไมสหราชอาณาจักรยังต้องมาเตือน ฉีดวัคซีนแล้วให้ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองนะ เพราะถ้าท่านติดเชื้อมาท่านไม่มีอาการ แต่ท่านแพร่เชื้อได้ ขอให้มองด้านนี้แล้วจะได้เข้าใจ ประกอบกับทุกวัคซีนต้องเข้าระยะ 4 ติดตามดู หลังศึกษาติดตามคนเป็นหมื่นๆ คน ในประเทศนึงคนเป็นแสนเป็นล้าน เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า มันป้องกันเชื้อได้จริงมั้ย มันครอบคลุมได้มั้ย สิ่งเหล่านี้จะตอบโจทย์หลังฉีดวัคซีนไประยะเวลานึง  และไปเก็บข้อมูลตามมา"

คุณศักดิ์สยามติดโควิดไป ทั้งที่ฉีดซิโนแวคไปแล้ว?
"กระบวนการผลิตวัคซีนตั้งเป้าหมายไว้ ถ้าติดแล้วจะไม่รุนแรงจนเสียชีวิต เหมือนเราฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ แต่จะไม่รุนแรงจนเสียชีวิต อาการจะน้อยลงไปเยอะมาก วัคซีนที่ผลิตออกมาทั้งหมด คือซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ชัดเจนว่าในการรักษาในคนเฟส 3 ลดความรุนแรงและไม่มีการเสียชีวิต ในการศึกษาเฟส 3 ในตัวนี้ แต่ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติด ติดเข้าไปจะไม่รุนแรง นี่แหละที่เราห่วง ทำไมทั่วโลกบอกว่าฉีดแล้วต้องใส่หน้ากาก ต้องรักษาระยะห่าง เพราะเมื่อท่านฉีดเข้าไป ท่านอาจได้รับเชื้่อมาติดตามข้างนอก ไม่ได้เข้าไปร่างกายบ แต่มันก็เอาไปติดกับคนที่มาสื่อสารกับเราได้ ถ้าคนนั้นไม่มีป้องกัน ก็มีโอกาสติดเชื้อ ถ้าคนนั้นไม่มีภูมิด้วย นี่คือเหตุผลถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งฉีดวัคซีนให้มากพอ อย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนในประเทศนั้นๆ เข้าถึงวัคซีนได้จะเห็นผลของวัคซีน แต่ถ้าต่ำกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่เห็น"

คนไทยช้าไปมั้ยในการกระจายวัคซีน?

"ประเทศไทยเรา ข้อมูลล่าสุด เราฉีดไปประมาณ 4 แสน คน 60 กว่าล้านคน เรายังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เลย ตอนนี้เรายังห่างไกลจากความเป็นจริง ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญถ้าตราบใดตัวเลขการฉีดวัคซีนเรายังไม่เยอะพอ เราต้องใช้กลไกอื่นในการป้องกัน สร้างความปลอดภัยให้กับพวกเรา"

แล้วจะทำยังไงดี?

"ต้องบอกว่าประเทศไทยเราไม่ได้ร่ำรวยที่จะจองวัคซีน ทั่วโลกมีการจองวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วัคซีนยังไม่ผ่านเฟส 3 ก็หลายบริษัท ตอนไฟเซอร์ โมเดอร์น่าเข้าสู่เฟส 3 ล็อตต้นๆ ถูกจองไปหมดแล้ว ประเทศมีฐานะก็จองไป 3-4 เท่าตัวของประชากรของเขา เราไม่มีโอกาสเข้าไปถึงวัคซีนเหล่านั้น"

ไม่ใช่เราเลือกเยอะ?

"ไม่ใช่ เราเลือกวัคซีนที่แน่ใจว่าต้องมีประโยชน์ อย่าลืมว่าพวกนี้เวลาจองต้องจ่ายเงิน ต้องลงมัดจำไปส่วนนึง ถ้าไม่ได้ผลก็เสียไปเฉยๆ เราไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น แต่พอได้ผลเราก็ต้องรีบจอง ซึ่งมันไม่ใช่แค่เราประเทศเดียว มันทั่วโลกพูดถึงคนเป็นพันๆ ล้านคน เขาก็จะแย่งกัน เราก็ได้มาในระดับหนึ่ง ผมว่าเราโชคดีแล้วที่แอสตร้าเซนนาเก้ให้สยามไบโอไซเอนท์ผลิตในประเทศของเรา ไม่งั้นเราจะเดือดร้อนมากกว่านี้ แต่นี่วัคซีนทยอยออก ของเรามี 61 ล้านโดส จะทยอยออก เราก็ต้องกำหนดว่าใครควรได้ก่อน ก็ไล่ฉีดไปเรื่อยๆ แบบนี้"

อย.มีการผ่านวัคซีนทั้งหมด 9 ยี่ห้อ เปิดให้ภาคเอกชน ในการเอาเข้ามาและขายเอง ให้คนไปฉีดเอง แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ ภาคเอกชนหาวัคซีนไม่ได้คือเรื่องจริงหรือเปล่า?

"บางบริษัทจะไม่ขายให้เอกชนโดยตรง เพราะถ้าผู้นำเข้าวัคซีนมาแล้วไม่รักษา เช่น ไม่เก็บในความเย็นที่กำหนดไว้ วัคซีนเกิดเสื่อมสภาพ เครดิตวัคซีนก็จะเสีย ฉะนั้นหลายแห่งก็อยากให้เป็นการตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล อย่างน้อยมีบอดี้ที่รับผิดชอบได้ ต้นๆ เราถึงผ่านทางองค์การเภสัช รัฐบาลเป็นผู้ไปจัดการเข้ามา แต่เมื่อไม่พอ ต้องมีเอกชน ผมถึงบอกว่าวัคซีนบางทีมีเงินก็ซื้อไม่ได้ ถ้าเขาไม่ขายให้เรา"

จะบอกว่าวันนี้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เอกชนได้เลยเสรี เพียงแต่เขาไปหาไม่ได้เอง เพราะไม่มีใครขายให้งี้เหรอ?

"ผมคงไม่ได้บอกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งหมดที่จะไม่ขายให้ แต่เวลาไปดีล บางบริษัทเขายังไม่ขายให้ ขณะเดียวกันพอวัคซีนเอาเข้ามา ย้ำว่าต้องถูกเทสอีกครั้งโดยอย. แต่อย.เขาเร่งรัดกระบวนการให้อยู่แล้วในเวลานี้ หลายคนไปพูดว่ารัฐบาลไม่เปิดให้เอกชน คำตอบคือไม่ใช่นะครับ"

หมอประสิทธิ์ พูดเองกลางรายการ โควิดรอบนี้น่าห่วงมาก มีความเสี่ยง 4 อย่าง

กรณีฉีดวัคซีน ถ้าฉีดซิโนแวค แล้วเข็มสองอยากเปลี่ยนไปฉีดอย่างอื่นได้มั้ย?
"ไม่แนะนำครับ มีข้อแนะนำออกมาว่าประเภทวัคซีนเข็มหนึ่ง-สอง ควรเป็นประเภทเดียวกัน อันนี้เป็นข้อแนะนำ อย่าลืมว่าเวลาเราฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกาย จะมีเมมโมรี่เซลส์จะจดจำตัวที่แปลกปลอมเข้ามา มันจะจำหน้าไว้ว่านี่คือศัตรู เชื้่อโรคนะ  วัคซีนที่เราฉีดๆ กันส่วนหนึ่งคือตัวเชื้อที่อ่อนแรง หรือส่วนหนึ่งของตัวเชื้อที่ทำให้ร่างกายจำได้ ตอนมันเข้ามาก็จัดการ ทันทีที่ตัวเชื้อที่มันจำไม่ได้ เม็ดเลือดขาวจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและมากำจัดเชื้อทันที ถ้ามันเปลี่ยนหน้าไป เขาคิดว่าในทางทฤษฎีอาจมีผลกระทบ ข้อแนะนำจึงแนะนำเสมอ ยกเว้นกรณีเดียวท่านฉีดเข็มแรกไปแล้วท่านแพ้อย่างชัดเจน กรณีแบบนี้ไม่ควรฉีดเข็มที่สองด้วยวัคซีนตัวเดียวกัน ในเมืองไทยก็เจออยู่ อาจต้องเปลี่ยนตัวอื่นเลย เราไม่เสี่ยงกับการแพ้ การแพ้กับภาวะข้างเคียงคนละอย่างกัน การฉีดเสร็จมันเจ็บ มีไข้ วันสองวันแล้วหาย อาจถ่ายเหลว ปวดข้อบ้าง อันนี้ผลข้างเคียง ไม่ใช่แพ้ 48 ชม. ก็หายหมด แต่บางคนแพ้แล้วช็อก ลิ่มเลือดไปอุดตันก็อีกเรื่องนึง คนละอย่างกัน เรื่องนี้สับสนมาก่อน ตอนแอสตร้าเซนเนก้าจะเข้ามา มีแบบนึงที่ผลิต 1 ล้านโดสเข้าไปในสหภาพยุโรป 17 ประเทศ ปรากฎว่ามีคนเสียชีวิตที่ออสเตรเลีย 1 คน ต่อมาเดนมาร์กเสียชีวิตอีกหนึ่งคน  และอีกหนึ่งคนเกิดลิ่มเลือดในปอด เลยเกิดข้อสังเกตออกมา พอฉีดไปเยอะๆ ผลข้างเคียงมันสัมพันธ์กันหรือเปล่า ก็เลยเกิดการหยุด เป็นหลักการทั่วไป เอาเข้ามาปุ๊บต้องหยุดก่อนเพื่อไปพิสูจน์ว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งการพิสูจน์ต้องอาศัยหน่วยงานกลางคืออีเอ็มเอ เข้าไปศึกษา อันดับแรกย้อนหลังไปเลย สิ้นสุดวันที่ 8 มี.ค. มีการฉีดไปทั้งหมด 17 ล้านโดสในยุโรป มีคน 37 คนที่เกิดลิ่มเลือดขึ้น 37 ใน 17 ล้าน เมื่อเทียบแล้วอุบัติการณ์น้อยกว่าลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นเองในสาเหตุอื่นตั้งเยอะ อีเอ็มเอเลยสรุปว่าไม่น่าเกี่ยวข้อง อีเอ็มเอ มีหน่วยงานนึงไปดูรายละเอียด และกลับมาสรุปว่าลิ่มเลือดที่เกิดจากคนเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโดยตรง หลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกก็สรุปว่าให้เริ่มกลับมาฉีดอีก เพราะสถานการณ์ยุโรปตอนนั้นกำลังแย่ ขณะเดียวกัน มีคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้หญิงอายุน้อย เกิดลิ่มเลือดเกิดขึ้นในเส้นเลือดดำในสมอง เจอน้อยมาก ยุโรปเจอน้อยมาก เมืองไทยยิ่งน้อยใหญ่ เพราะพันธุกรรมคนไทยโอกาสเกิดลิ่มเลือดน้อยกว่ายุโรปอยู่แล้ว แต่พอเกิด 1 ราย มีการพูดกันเยอะ องค์การอนามัยโลกก็ประกาศว่าอันนี้มันเกิดน้อยมาก ต่างกันเยอะมาก ก็แนะนำให้ฉีด"

มีผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ผับ บาร์ เขาเรียกร้องว่าทำไมไม่ฉีดวัคซีนให้พวกเขาด้วย เขาก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเหมือนกัน?
"ถ้าวัคซีนเมืองไทยเรามีเยอะพอ ฉีดไม่ว่า แต่ถ้ากลับกัน เป็นผม หนึ่งปีที่ผ่านมา เราใส่หน้ากากป้องกันได้ดี ทำไมเราไม่ฉีดให้คนที่เสี่ยงเสียชีวิต พวกนั้นน่าฉีดกว่าตั้งเยอะ โควิด-19 ถ้าท่านเป็นและท่านแข็งแรงดี ผมยืนยันเลย ร่างกายท่านจะสร้างภูมิคุ้มก้น และไวรัสถูกกำจัด ถ้าช่วงเวลานั้นท่านไม่กระจายให้คนอื่น ไม่มีประเด็น แค่นั้นเอง ถ้าท่านยังใส่หน้ากาก ท่านดำเนินธุรกิจได้ เพียงแต่พอมันการ์ดตก แล้วไปเจอสายพันธุ์กระจายเร็ว มันเลยเกิดเรื่อง"

อย่างสถานที่เจอ บ่อน สถานบันเทิง มองยังไง?
"ถ้าเมืองไทยไม่มีกิเลส โควิด-19 คงหมดไปพักนึงแล้วล่ะ นี่พูดตรงๆ นะ ลองมองย้อนหลังสิ ท่าขี้เหล็ก เกิดอะไรขึ้น บ่อนระยองเกิดอะไรขึ้น บ่อนไก่เกิดอะไรขึ้น ที่เหล่านี้เป็นที่ที่เราเรียกว่าที่อโคจรไม่ควรจะไป พอคนที่ไปก็ไม่แสดงตัว เพราะไปในที่ที่ไม่ควรไป ไม่แจ้งให้ใครรู้ว่าฉันไป พอไม่บอกก็ยิ่งกระจายกันใหญ่ มันถูกซ้ำเติมด้วยสายพันธุ์ที่กระจายง่าย รอบนี้ผมเลยห่วงมาก ขอกันเลยนะครับ เข้าใจว่าทุกคนอยากพัก เพราะตึงเครียด แต่ถ้าตึงเครียดแล้วสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ ก็จะตึงเครียดมากขึ้น อยากสงบบ้าง ผมคิดว่าควรอยู่บ้าน อยากพักก็ควรพักที่บ้าน พักคนเดียวก็ได้"

ครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา?
"ดูจากตัวเลขเวลานี้กับขบวนการสืบสวน ผมคิดว่าจะยากกว่าเดิม เพราะขบวนการสืบสวนจะเยอะและยาก และตอนนี้คนที่ไปผับมันกระจายไปหมดแล้ว มันจะยิ่งยากไปอีก"

ผู้ติดเชื้อวันนี้ 400 กว่า จะทะลุเท่าไหร่?
"คงไปถึงตัวเลขพันในที่สุดแหละถ้าเรายังตามตัวกันไม่ได้ อาทิตย์หน้าถ้าสงกรานต์เราไม่คุมกันดีๆ"

คิดยังไงกับคนปกปิดไทม์ไลน์?
"เมื่อกลัดกระดุมผิดแล้วก็หยุดเถอะ อย่าฝืนกลัดไปเรื่อยๆ มาช่วยกันดีกว่า ผมว่าคนไทยเราอภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้ายังปิดอีก คนที่ท่านรักเสียชีวิต ท่านจะรู้สึกและเข้าใจความหมายในสิ่งที่ผมพูดตอนนี้"

 

ชมคลิป

 

 

ข่าวเด่น

"ทนายอนันต์ชัย"พาสมาชิกสมาคมฮินดูฯ บุก ปค.ร้อง ปธ.-คกก.เก่าขวางเลือกตั้ง

"ทนายอนันต์ชัย"พาสมาชิกสมาคมฮินดูฯ บุก ปค.ร้อง ปธ.-คกก.เก่าขวางเลือกตั้ง

ทำไมคนไทยถึงชอบกิน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มากขนาดนี้

ทำไมคนไทยถึงชอบกิน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มากขนาดนี้

"ทนายเดชา" ฝากข้อความถึงคนที่ไม่ชอบตน งานนี้ชาวเน็ตแห่ถูกใจ

"ทนายเดชา" ฝากข้อความถึงคนที่ไม่ชอบตน งานนี้ชาวเน็ตแห่ถูกใจ

โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ เจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี

โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ เจ้าคุณพระสินีนาถ พิลาสกัลยาณี

"ปู มัณฑนา" เผยแจ้งความเอาผิดเกรียนคีย์บอร์ด ล็อตแรก 100 เคส

"ปู มัณฑนา" เผยแจ้งความเอาผิดเกรียนคีย์บอร์ด ล็อตแรก 100 เคส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง