กฟผ. เพิ่มมาตรการเข้ม ล็อคดาวน์พนักงานเดินเครื่อง ผู้คุมจ่ายไฟทั่วประเทศ
กฟผ. ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ขั้นสูง สั่งล็อคดาวน์เจ้าหน้าที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่จ่ายไฟทั่วประเทศ กำหนดพื้นที่ควบคุม (Safe Zone) เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้กับประเทศ สู้สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอก 3 ที่ยังคงวิกฤต โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง กฟผ. ตระหนักดีว่า ไฟฟ้าเป็นพลังงานที่สำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินงานด้านการแพทย์ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คมนาคม ฯลฯ จึงได้สั่งการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ขั้นสูงสุด กำหนดให้พื้นที่ภายในโรงไฟฟ้าและเขื่อน กฟผ. ทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ควบคุม (Safe Zone) สำหรับพนักงานที่ทำหน้าที่ผลิตและจ่ายไฟฟ้าอยู่ในบริเวณดังกล่าวโดยปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกโดยเด็ดขาด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคง รองรับสถานการณ์วิกฤตได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการจัดสรรพื้นที่ Safe Zone ทั้งในส่วนของระบบผลิตและส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้แยกการใช้ชีวิตของเจ้าหน้าที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ควบคุมการจ่ายไฟ ออกจากเจ้าหน้าที่สำนักงานทั่วไป รวมถึงได้แยกพื้นที่ห้อง Control room ของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าให้เข้าได้เฉพาะพนักงานกะเท่านั้น พร้อมคุมเข้มในการคัดกรองและตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มงานทุกวัน โดยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาทำงานและทำความสะอาดมือเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าพื้นที่
นอกจากนี้ กฟผ. ได้เตรียมพร้อมศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสำรอง โดยจัดให้มีศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าควบคู่กัน 2 ศูนย์ฯ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อที่หากจำเป็นต้องปิดศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อเมื่อพบพนักงานในศูนย์ฯ ติดเชื้อโควิด-19 จะยังสามารถจ่ายไฟฟ้าได้อีกศูนย์ฯ ที่เหลือ
รวมถึงได้ประสานไปยังพนักงาน กฟผ. ที่เคยปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการควบคุมและสั่งการระบบไฟฟ้าให้เตรียมพร้อมเข้ามาร่วมเสริมทีมงานปัจจุบัน
อีกทั้ง ปรับการทำงานของพนักงานเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า กฟผ. เพื่อลดการสัมผัส จากทำงานวันละ 3 กะ กะละ 8 ชั่วโมง เป็น 2 กะ กะละ 12 ชั่วโมง โดยแบ่งพนักงานเดินเครื่องเป็น 4 ชุด โดยแต่ละชุดจะทำงานสลับกันไป พร้อมทั้งได้จัดเตรียมอุปกรณ์พิเศษ อะไหล่ คู่มือที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรักษา เพื่อให้สามารถซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
“กฟผ. ขอความร่วมมือคนไทยทั่วประเทศการ์ดอย่าตก ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT (Distancing/ Mask wearing/ Hand washing/ Testing/ Thai Cha na) อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโควิด-19 และขอให้ประชาชนมั่นใจว่า พนักงาน กฟผ. จะรักษาตัว เพื่อรักษาหน้าที่ในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างดีที่สุด”
ที่มา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย