กทม.เเก้ปัญหาผู้ติดโควิดตกค้าง ระดมรถรับส่ง พาเข้ารับการรักษาเร็วที่สุด
กทม. เพิ่มรถ เพิ่มรอบรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด 50 เขต เร่งลดปัญหาผู้ป่วยตกค้าง เป็นกำลังสนับสนุนให้แก่รถพยาบาลของศูนย์เอราวัณ สายด่วน1669 อย่างน้อยเขตละ 1 คัน เเละขอการสนับสนุนของรถทหารอีก 8 คัน
25 เม.ย.64 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยโทรสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 ขอให้นำส่งโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพื่อความรวดเร็วในการนำส่งผู้ป่วยให้เข้าระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด และเป็นการแก้ปัญหาผู้ป่วยตกค้าง จึงได้มอบหมายสำนักเทศกิจและสำนักงานเขต 50 เขต จัดเตรียมรถสำหรับรับ-ส่งผู้ป่วย เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนให้แก่รถพยาบาลของศูนย์เอราวัณ อย่างน้อยเขตละ 1 คัน
ออกปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศูนย์เอราวัณประสานงาน โดยไม่จำกัดจำนวนรอบการรับ-ส่ง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.64 เป็นต้นมาได้ทยอยรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวานนี้(24 เม.ย.64)กำลังของสำนักงานเขตและการสนับสนุนของรถทหารอีก 8 คัน
สามารถช่วยสนับสนุนศูนย์เอราวัณรับส่งผู้ป่วยโควิดได้ 75 เที่ยว จำนวนผู้ป่วย 120 ราย เมื่อรวมกับกำลังของศูนย์เอราวัณ เมื่อวานนี้ สามารถรับส่งผู้ป่วยได้ 159 ราย คาดว่าหลังจากนี้จะสามารถเร่งรับส่งผู้ติดเชื้อเข้าระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็วและไม่มีผู้ตกค้าง
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตประสานกับมูลนิธิและอาสาสมัครในพื้นที่มีรถและประสงค์จะให้การสนับสนุนรับส่งผู้ป่วยโควิด ให้แจ้งความประสงค์กับสำนักงานเขตพื้นที่ โดยก่อนที่จะออกปฏิบัติงานทางกรุงเทพมหานครจะจัดอบรมซักซ้อมเกี่ยวกับการจัดเตรียมรถ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับรับส่งผู้ป่วย ข้อพึงระวัง และระบบการประสานงานกับศูนย์เอราวัณให้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบกรณีที่มีผู้ติดเชื้อและประสงค์จะเดินทางไปโรงพยาบาลสนามด้วยตนเอง หากผู้ติดเชื้อประสงค์จะเดินทางไปรับการรักษาด้วยรถยนต์ส่วนตัวให้แจ้งไปยังสายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ กทม. ก่อน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และควรเตรียมเอกสารผล LAB ยืนยันการติดเชื้อ COVID-19 ให้พร้อม และหากมีผู้ขับรถให้ แนะนำผู้ติดเชื้อและผู้ที่ขับรถปฏิบัติ ดังนี้
ให้มีฉากกั้นระหว่างคนขับและผู้ติดเชื้อ ใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น เพื่อให้มีระยะห่างระหว่างกันให้มากที่สุดทั้งคนขับและผู้ติดเชื้อ เปิดกระจกและปิดเครื่องปรับอากาศ คนขับและผู้ติดเชื้อให้นั่งทะแยงมุมคนละฝั่ง สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทางโดยใช้เวลาในการเดินทางไม่ควรเกิน 30 นาที เมื่อเดินทางไปยังจุดที่กำหนดให้นั่งคอยในรถ จากนั้นให้โทรประสานเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารับการรักษาตามช่องทางของโรงพยาบาลต่อไป