ลุงตำรวจป่วยมะเร็งไม่ยอมรักษา ก่อนหวังพึ่งหมอเป่าช่วย แต่ไม่เป็นผล
เพจหมอชื่อดังยกเคสตัวอย่าง ลุงตำรวจป่วยมะเร็งไม่ยอมรักษา หวังพึ่งพาหมอเป่าช่วย ผ่านไปสามปี อาการไม่ดีขึ้น แถมทรุดหนักกว่าเดิม ตรวจดูอีกทีถึงรู้ มะเร็งร้ายลุกลามปอด
เป็นอีกหนึ่งความรู้ที่ชาวเน็ตให้ความสนใจอย่างมาก เมื่อเพจ หมอโรคปอด และทางเดินหายใจ: หมอวินัย ได้โพสต์เคสน่าสนใจเอาไว้ในหน้าไทม์ไลน์ว่า "ตำรวจ 59 ปฏิเสธการรักษามะเร็งกล้ามเนื้อขา หวังพึ่งหมอเป่า.. ผ่านไป 3 ปี.. ลูกสาวพามาปรึกษาด้วยเรื่องเหนื่อยมากขึ้น ระยะหลังน้ำหนักลดหน้าบวม..
ตำรวจท่านนี้เคยผ่าตัดชิ้นเนื้อที่ขาซ้ายสามปีที่แล้วผลวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อ ( รูปที่ 2) เมื่อย้อนกลับไปถามว่าทำไมถึงตัดสินใจไม่ยอมรักษาสามปีที่แล้ว เหตุผลที่ได้คือ
1. ฟังหมอแล้วหมดกำลังใจเพราะหมอบอกว่าอยู่ได้แค่สามปี
2. ภรรยาบอกหมอพูดตรงไปผู้ป่วยรับไม่ได้
3. ผู้ป่วยคิดว่าถ้าอยู่ได้สามปีขอใช้ชีวิตที่เหลือแบบสบายๆ
4. ที่บ้านยังมีความเชื่อเรื่องหมอทางเลือกอยู่เช่นกรณีนี้มีการพึ่งพาหมอเป่า
สามปีผ่านไปอาการทรุดลงมีเหนื่อยมากขึ้นผอมลงกินไม่ได้ ไอตลอดเวลา เริ่มมี ไอเป็นเลือด ตรวจร่างกายเบื้องต้น พบภาวะทึบเสียงบริเวณปอดขวาครึ่งซีก เอกซเรย์ปอด พบปอดข้างขวาทึบเกินครึ่ง ซีทีสแกนปอด พบก้อนกระจายทั่วปอดด้านขวาและลุกลามเข้ามาในหลอดลม
ส่องกล้องตัดชิ้นเนื้อ พบภาวะลักษณะก้อนแดงกระจายในหลอดลม ซึ่งมีเลือดออกง่ายหลังจากการตัดชิ้นเนื้อ สรุป มะเร็งกล้ามเนื้อกระจายมาที่ปอด กรณีแบบนี้เราเจอกันไม่น้อย ซึ่งขอไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือก แต่สิ่งที่จะเปิดประเด็นให้เราคิดและแนวทางในการตัดสินมีประมาณนี้ครับ
เมื่อไหร่ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเราเป็นมะเร็งสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคุณคือ
1. จิตตก ซึ่งเป็นเรื่องปกติคนไข้สถานการณ์นี้นะครับ
2. อยากให้ตั้งสติซักแป๊บแล้วคุยกับแพทย์ให้เคลียร์ว่า..
3. มะเร็งนี้มีโอกาสรักษาสำเร็จ ประมาณกี่ % อยู่ได้อีกกี่ปีหลังจากรักษา ถ้าไม่รักษาเลยจะอยู่ได้กี่ปี
4. ระหว่างรักษามีผลแทรกซ้อนอะไรที่ทำให้รบกวนคุณภาพชีวิตไหม ถ้ามีมากน้อยแค่ไหน
5. มะเร็งนี้ตอบสนองดีต่อการรักษาไหม (อย่าลืมนะครับเดี๋ยวนี้อย่าทางด้านมะเรงพัฒนาไปเยอะมากผลแทรกซ้อนน้อยลงเรื่อยๆคุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นเรื่อยๆ)
6. ถามหมอเลยว่าสภาพร่างกายอายุแบบนี้โรคประจำตัวแบบนี้คุ้มไหมที่จะเดินหน้าต่อ ประสบการณ์ของหมอคิดว่าควรจะทำใจหรือสู้ต่อไป ( ผมเชื่อว่าหมอคงจะช่วยเราเคลียร์ตรงนี้ได้ดีมาก)
7. ลูกหลานควรจะอยู่ด้วยเวลาคุยกับหมอ อย่าลืมนะครับผู้ป่วยอยู่ในสภาพจิตตก ฟังหมอแล้วอาจจะรวบประเด็นได้ไม่หมด หรือมีอารมณ์ร่วมเยอะ
( emotional decision Not Informational decision making ) ดังนั้นมีโอกาสที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานอารมณ์มากกว่าข้อมูลสูง ลูกหลานจะมีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยควบคุมสถานการณ์
8. หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วถ้าคิดว่าขอคิดดูก่อนก็ดีครับนัดแพทย์ใหม่ซักอาทิตย์นึงแล้วกลับไปใหม่ ระหว่างกลับบ้านก็ทำการบ้าน ตั้งสติ สอบถามเพื่อนบ้านที่มีประสบการณ์ (ไม่เอาข่าวลือนะ ) เน้นถามผู้ป่วยที่เคยรักษาโดยตรงจะดีมาก
9. หารเสริมอาหารบำรุงที่โฆษณากันมากมาย ( เกินจริง ) ราคาก็แพง .. แนะนำเก็บเงินไว้ก่อน อย่าพึ่งหมดตัวไปกับโปรโมชั่นซื้อสามแถมหนึ่งทั้งหลาย อย่าลืมว่าระหว่างทางนี้ต้องใช้เงินเยอะ
ตำรวจท่านนี้ผมก็คงเป็นกำลังใจให้แกกลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่เพราะมะเร็งชนิดนี้หมอมะเร็งบอกว่าตอบสนองดีต่อการรักษาดังนั้นควรจะให้โอกาสตนเอง
สิ่งที่ผมเสียดายคือเมื่อย้อนกลับไปดูเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซีทีสแกนสามปีที่แล้ว ( รูปที่หนึ่ง) .. ก้อนที่ปอดด้านขวาบนยังเล็กอยู่เลย
ขอให้กรณีตัวอย่างนี้เป็นบทเรียนในการปรับแนวความคิด mindset ของเราคนไทยทุกคนนะครับ .. ย้ำนะครับบทบาทของลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุมีความสำคัญมาก ขอให้โชคดีครับ"