หมอตอบ เหตุมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดเยอะ เพราะกว่าจะถึงมือหมอก็สายไป
หมอตอบชัดๆ สาเหตุมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เยอะ เพราะบางคนรู้ตัวช้า กว่าจะมารักษาคืออาการหนักจนทรุดแล้ว แจงอีกครั้งจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลสนาม กทม.มีแพลนเพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วย
จากที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงยังไม่ยอมลดทำให้เกิดวิกฤตดราม่าต่างๆ ขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากภายหลังที่เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกที่สาม ที่เหล่ารัฐบาลและแพทย์พยายามควบคุมกันอยู่ ทว่าสถานการณ์ยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าใดนัก เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตแทบทุกวัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ รศ. นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ตอบปัญหาเกี่ยวกับข้อสงสัยที่ประชาชนได้ตั้งคำถามอย่างหนักในรายการโหนกระแสที่มี หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยทางด้าน นพ.สุขสันต์ ได้เริ่มชี้แจงเรื่องเตียงที่มีหลายคนโทร.ติดต่อแล้วได้รับข้อมูลว่าเตียงเต็ม แท้จริงแล้ว ณ ตอนนี้ เตียงสนามมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นเตียงสนามที่ กทม. ส่วนหนึ่งเป็นเตียงสนาม ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน เปิดในรูปแบบฮอสพิเทล ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่ไปทำแล็บตามโรงพยาบาลแล้วต้องรับเข้ามา มี 2 ส่วน
สำหรับกรุงเทพมหานคร ณ วันนี้ ตัวเลขจริงๆ อยู่ 1,900 เตียง ตอนนี้ยังว่างอยู่ 600 กว่าเตียง แต่ทางผู้ว่าฯกทม.ก็สั่งการว่าให้เปิดเพิ่มเติมโดยเร็ว เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน และเดี๊๋ยวจะมี เปิดอีก 2 ที่ ที่หนึ่งเป็นโรงแรมฮอสพิเทล มี 160 ห้อง รับได้ 320 คน ในวันศุกร์นี้ อีกที่เปิดที่ศูนย์กีฬาบางมด เขตทุ่งครุ อันนี้จะเปิด 400 เตียง ความพิเศษตรงศูนย์กีฬาบางมด ตรงนี้จะเป็นเตียงสนามที่รองรับผู้ป่วยสีเหลือง
นอกจากนี้ทางรายการยังได้สัมภาษณ์สด พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ซึ่งทางคุณหมอที่โด่งดังจากภาพช่วยเหลือผู้ป่วยจนเป็นลมในชุด PPE ได้เปิดเผยว่า ด้วยความที่อาการของโรคมันต่างกัน จึงทำให้บางครั้งเราควบคุมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้มีเคสที่ไม่รุนแรง เชื้อโควิดลงปอดแล้วแต่เราสามารถคุมได้ ให้ยาแล้วตอบสนองดี
ทว่าคราวนี้มันต่างกันออกไป ซึ่งพอเชื้อไวรัสมันลงปอด ยาที่เราให้ไปยับยั้งมันกลับไม่ตอบสนองดีเท่าที่ควร ทำให้โรคยังดูรุนแรงมาก จึงต้องให้ออกซิเจนกันเยอะ ส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นปัจจัยด้วย กล่าวคือ ด้วยตัวของโรคเอง และผู้ป่วยที่มาหาเราช้า มันเลยทำให้เราเหลือพื้นที่หรือเวลารักษาเขาน้อยมาก ๆ ก็เลยทำให้เราช่วยชีวิตเขาได้ยากขึ้น
คือต้องอธิบายให้ฟังแบบตรงๆ ว่า คำว่ามาถึงช้า คืออาจจะช้าในลักษณะที่ 1. คนป่วยไม่รู้ตัวเองเป็นโควิด 2. ได้รับการตรวจช้า หรือ 3. ไม่มีรถพาไปส่งทำให้ช้า บางคนอาจคิดว่ราตัวเองไม่ติดเชื้อ แต่พอนานวันผ่านไปอาการเริ่มชัด พอเริ่มรู้ตัวว่าติดเชื้อจึงได้มาหาเราช้าไป พอเรารับมารักษาบางทีอาการมันก็ทรุดแล้ว
จริงๆ ในช่วงนี้อาจจะบอกว่า ที่หลายคนเข้าใจว่ามีปัจจัยเสี่ยงมากๆ ถึงจะเสี่ยงที่สุด แต่ ณ ตอนนี้คือไม่ใช่ เพราะ ตอนนี้ความเสี่ยงมีอยู่เยอะมาก แม้แต่เขาเดินออกนอกบ้านก็คือความเสี่ยงแล้ว แต่คนไม่เข้าใจตรงนี้ เขาก็ไม่คิดว่าเขาเป็นความเสี่ยง เขาเลยไปหาการรักษา ไปตรวจช้า พอตรวจช้าก็รักษาช้า หรือตอนนี้มีคนที่ตรวจรอเตียงอยู่ที่บ้านก็มีอยู่ ก็หลายปัจจัย