"หมอเก่ง"ส.ส.พรรคก้าวไกล เตือน โควิดพันธุ์บราซิลเเละแอฟริกา เข้าไทยแล้ว
"หมอเก่ง" ส.ส.พรรคก้าวไกล เตือน เชื้อโควิดสายพันธุ์บราซิล-แอฟริกา เข้าไทยแล้ว จี้รัฐบาลหาวัคซีนที่เหมาะสมกับเชื้อกลายพันธุ์ เพราะเชื้อกลายพันธุ์ ลักษณะดื้อวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง
ฉีดวัคซีนดีไหม? ฉีดแล้วจะอัมพาตรึเปล่า? โควิด-19 ที่ระบาดตอนนี้มีกี่สายพันธ์ุ?, ทำไมเตียงผู้ป่วยไม่พอ สาธารณสุขจะรับไหวไหม? และอีกสารพันคำถามที่ทุกคนต่างอยากรู้ แต่รัฐบาลไม่เคยตอบให้ชัด
ในขณะที่ความระส่ำระส่ายเกิดขึ้นพร้อมกันถ้วนหน้า มาตรการเยียวยาทั้งหลายจากภาครัฐกลับไม่ถ้วนหน้า แต่ประชาชนต้องสู้รบตบตีเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินเยียวยา รวมถึงการออกแบบการใช้งาน ‘หมอพร้อม’ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับการลงทะเบียนรับวัคซีน ควรจะใช้ง่าย แต่กลับให้ความรู้สึกเหมือนงานจับฉลาก สอยดาว แอปรวน แอปล่ม ข้อมูลอัพเดทไม่ครบ โรงพยาบาลไม่ขึ้นข้อมูล ลุ้นกันตัวโก่งว่าจะนัดวันฉีดวัคซีนได้หรือไม่ หรือต้องรอคิวนานหลายเดือน (ชมคลิปท้ายข่าว)
"หมอเก่ง" นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่านการพูดคุยกับนางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้าผ่านรายการ "คุยให้ชัด กับพรรณิการ์"ว่าตนกังวลใจอย่างมากที่พบรายงานจากองค์การอนามัยโลก ว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์บราซิลและแอฟริกาเข้าไทยแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ศบค. กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ทั้งที่มีรายงานการวิจัยทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่าเชื้อที่เกิดการกลายพันธุ์ มีลักษณะดื้อวัคซีน ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง
นพ.วาโย ยังกล่าวอีกด้วยว่า ในขณะนี้ วงการแพทย์รับรู้กันว่าวัคซีนที่ผลิตจากเทคโนโลยี mRNA มีแนวโน้มที่จะป้องกันเชื้อโควิดชนิดกลายพันธุ์ได้ดีกว่า แต่ในประเทศไทยขณะนี้ มีเพียงวัคซีนซิโนแวค และแอสตรา เซเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนประเภทไวรัล เว็คเตอร์ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะไม่มีประสิทธิภาพดีพอในการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์บราซิลและแอฟริกา เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องเร่งจัดหาวัคซีน mRNA เช่นโมเดอร์นา หรือไฟเซอร์ เข้ามาฉีดให้ประชาชน เพื่อรับมือการระบาดระลอกใหม่จากเชื้อกลายพันธุ์
นพ.วาโยยังกล่าวอีกด้วยว่า แม้จะตอบได้ยากว่าการระบาดระลอกสามจะจบลงเมื่อไหร่ แต่ที่เป็นไปได้แน่ๆคือ เราจะเจอการระบาดระลอก 3 แบบยาวนาน แล้วแทรกด้วยการเกิดระลอกใหม่ที่เป็นการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์
ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยต้องแบกรับภาระด้านการบริหารทรัพยากรมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเมื่อบุคลากรการแพทย์ส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนซิโนแวค ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำในการรับมือเชื้อวิดกลายพันธุ์