ครม.ไม่ลังเลไฟเขียวใช้อิมแพค เมืองทองธานี เป็นโรงพยาบาลสนาม
ผลการแถลงการประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่ลังเล ไฟเขียวใช้อิมแพค เมืองทองธานี เป็นโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง 5,200 เตียง แบ่งเบาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ลดภาระของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในกรุงเทพฯและปริมณฑล
จากที่ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ชุมชน 70ไร่ เขตคลองเตยเพื่อตรวจเยี่ยมการคัดกรองเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมาเข้ารับการตรวจ ซึ่งในตอนหนึ่ง นายอนุทิน ได้กล่าวว่าจะจัดเล็ง พื้นที่อาคารภายในเมืองทองธานี ไว้เป็นแผนรองรับในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าสุด น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยถึงผลการแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง
โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ แต่ไม่รุนแรงและเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ซึ่งจากเดิมผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ซึ่งเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรง มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม อีกทั้งการตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในกรุงเทพฯและปริมณฑล
เพื่อให้โรงพยาบาล มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง มีอาการหนักได้มากขึ้น ส่วนของพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ซึ่งใช้โรงพยาบาลสนามทั่วไปและโรงพยาบาลทางเลือกเวลานี้มีพื้นที่เพียงพอ ยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพิ่ม
นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้เผยต่อไปว่า สำหรับข้อมูลโรงพยาบาลสนาม ที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,200 เตียง โดยใช้พื้นที่อาคาร 1 และ 2 อาคารละ 2,000 เตียง ส่วนอาคาร 3 เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ภายในจะตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง
อย่างไรก็ตาม น.ส.ไตรศุลี ยังได้กล่าวอีกว่า หลังจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปจัดการในพื้นที่ ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกล้องวงจรปิด ให้ได้ตามมาตรฐานและร่วมกับภาคเอกชนอื่น พร้อมทั้งติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตต่อไป