ประกาศ"กทม."ขยายระยะเวลาปิดสถานที่ชั่วคราว จนถึงวันที่"17 พ.ค. 64"
คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถยุติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้โดยเร็ว ซึ่งทางกทม. ขยายระยะเวลาสั่งปิดสถานที่ไปจนถึงวันที่ 17 พ.ค. 64
เมื่อวันที่ 7พ.ค.64 คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2564 มีมติเห็นชอบคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังมีจำนวนสูง คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จึงมีมติเห็นสมควรดำเนินมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน
สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 22) ลงวันที่ 29 เมษายน 2564 ต่อไปอีก เพื่อให้สามารถยุติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้โดยเร็ว จึงมีคำสั่งให้ปิดสถานที่และใช้บังคับมาตรการ ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 25) ลงวันที่ 25 เมษายน 2564 และ (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 30 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 17 พ.ค. 2564
ด้าน ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2564 มีมติเห็นชอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ กระทรวงแรงงานขยายการให้บริการจุดตรวจโควิด-19เชิงรุกแก่ผู้ประกันตน ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ระหว่างวันที่ 5-31 พ.ค.64
ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ให้บริการตรวจโควิด-19เชิงรุกแก่กลุ่มผู้ประกันตนในช่วงเดือนเม.ย. สามารถคัดกรองประชาชนได้ 32,453 คน พบผู้ติดเชื้อ 808 คน คิดเป็นร้อยละ 2.50 รวมทั้งมีการดำเนินการภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง การคัดกรองผู้มารับบริการ และสามารถดูแลผู้ติดเชื้อภายหลังพบผล Positive เป็นอย่างดี จึงเห็นชอบให้ขยายการให้บริการต่อไปได้
นอกจากนี้เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวครอบคลุมประชาชนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย กระทรวงแรงงานพร้อมที่จะดำเนินการตรวจในกลุ่มพนักงานส่งอาหารDelivery รวมทั้งแรงงานที่อยู่นอกระบบทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการให้ได้วันละ 2,000 คน เพื่อให้เกิดการป้องกันการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริการจัดการวัคซีนสำหรับกลุ่มอาชีพเสี่ยงเพิ่มเติม อาทิ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คนขับรถสาธารณะ แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานดอนเมือง การไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งเจ้าหน้าที่พนักงานกวาดประจำ 50 สำนักงานเขต ซึ่งคาดว่าจะมีกว่า 500,000 คน และหากกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมให้เร่งดำเนินการฉีดทันที