"ประยุทธ์"ลั่นกับสื่อญี่ปุ่น ไทยคุมโควิดได้ดี ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิคเคอิ สื่อดังของญี่ปุ่น ถึงประเด็นการควบคุมโควิด-19 และอีกหลายประเด็น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิคเคอิ สื่อดังของญี่ปุ่น เนื่องในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 26 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์นิคเคอิ โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามถึงประเด็นการบริหารสถานการณ์ภายในประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ว่าขณะนี้ไทยยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ด้วยระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง บุคลากรทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ การดูแลประชาชนได้ทั่วถึง รวมทั้งการมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย
ซึ่งรัฐบาลได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และได้ดำเนินการทั้งเชิงป้องกันและการรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากร อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติในไทยด้วย และเมื่อเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มใหญ่ในเดือนมิถุนายนได้ตามแผน เชื่อว่าสถานการณ์จะยิ่งดีขึ้น
ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังคงมีสัญญานบวกในบางสาขา อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ได้แก่
1.มาตรการเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และคงการไหลเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ
2.มาตรการทางการเงินและทางภาษี
3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งจากมาตรการเศรษฐกิจและแผนการด้านวัคซีนของรัฐบาลตามเป้าหมาย เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ที่ร้อยละ 2.3-2.5 ส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 การท่องเที่ยวฟื้นตัว เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7 ในปีหน้าทั้งนี้ ไทยยินดีที่รัฐบาลและและเอกชนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในศักยภาพเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสให้ไทยและญี่ปุ่นร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ไทยคำนึงถึงข้อแนะนำของเอกชนญี่ปุ่นและพร้อมร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม การเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งสามารถร่วมมือกันในลักษณะ win-win
ด้านแผนและมาตรการเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไทยได้เปรียบเรื่องที่ตั้งที่เป็น “connecting point” ของภูมิภาค จึงมีศักยภาพสำหรับการขับเคลื่อนการลงทุน โดยได้ผลักดันเขตพัฒนเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและของภูมิภาค โดยมุ่งเน้นสาขาที่ไทยมีศักยภาพ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหาโลกร้อน รัฐบาลไทยพร้อมดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งค่าเป้าหมายขั้นต่ำในการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ร้อยละ 20 และขั้นสูงไว้ที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี ค.ศ. 2030
โดยไทยยึดมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหานี้ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส รวมทั้งได้บูรณาการประเด็นดังกล่าวในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง