จุฬาราชมนตรีวินิจฉัย ชาวไทยมุสลิม ฉีดวัคซีนโควิดได้ ไม่ผิดหลักศาสนา
วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ออกคำวินิจฉัย (ฟัตวา) เรื่องการ ฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดระบุไว้ว่า
ด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก จนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในขณะนี้ ทุกภาคส่วนของประชาคมโลก ทั้งองค์การอนามัยโลก การสาธารณสุขทุกประเทศทั่วโลก และรวมถึงประเทศไทย ได้สร้างความตระหนักแก่ประชาชนทุกภาคส่วนในการป้องกันตนเองมิให้ต้องประสบกับโรคดังกล่าว ควบคู่กับการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคนั้น
ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาอันใกล้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิต ทรัพย์สิน และความปลอดภัยของสังคม ในการนี้ โดยพิจารณาจากบทวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน พบว่ายังไม่มีข้อมูลใดยืนยันหรือรับรองว่ามีการปนเปื้อนหรือมีส่วนผสมของสิ่งต้องห้ามตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งสอดคล้องกับการพิจารณาของสภาศาสนบัญญัติอิสลามนานาชาติ (International islamic Fiqh Academy) โดยองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC)
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อิสลามและนักวิชาการด้านการแพทย์ โดยผู้เชี่ยวชาญ ด้านเภสัชวิทยาและเวชศาสตร์ป้องกัน ว่าวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นไม่มีส่วนผสมของสิ่งต้องห้ามตามหลักการศาสนาอิสลาม และการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคมิได้หมายความว่าไม่ได้มอบหมายการงานต่างๆ ต่ออัลลอฮ์ (ช.บ.) หากแต่เป็นวิธีการป้องกันที่ดำเนินไปพร้อมกับการมอบหมายต่อพระองค์ และหวังในความเมตตาของพระองค์ที่จะคุ้มครองผู้รับการฉีดวัคซีนและสังคมให้รอดปลอดภัยจากโรค ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคที่ดีกว่าการรักษาหลังจากเป็นโรคแล้ว ดังนั้นจึงถือเป็นภาระความรับผิดชอบของทุกคนที่ต้องมีต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติโดยรวมต่อไป