เปิดผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ มากกว่าแค่ได้รับบริจาควัคซีน 25 ล้านโดส
จากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐประกาศว่าจะมีการบริจาควัคซีนโควิด-19 ให้กับหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในประเทศที่จะได้รับการบริจาควัคซีนด้วยก็คือ ไทย โดยจะบริจาควัคซีนส่วนใหญ่ ผ่านโครงการโคแวกซ์ (COVAX) นำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
แจกจ่ายวัคซีนไปตามประเทศยากจน ซึ่งจะส่งออกวัคซีนโควิด-19 อีก 20 ล้านโดส ของบริษัท “ไฟเซอร์ อิงก์-ไบโอเอนเทค เอสอี” “โมเดอร์นา อิงก์” และ “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ซึ่งได้รับการอนุมัติการใช้งานฉุกเฉินภายในประเทศ และวัคซีนอีก 60 ล้านโดส ของบริษัท “แอสตร้าเซนเนก้า พีแอลซี” ที่สหรัฐกำลังส่งออก แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติใช้งาน
ไม่เพียงแค่วัคซีนจำนวนหนึ่งที่จะได้รับ สหรัฐยังส่งความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข พร้อมงบประมาณอีกเกือบ 1,000 ล้านบาทให้กับประเทศไทยอีกด้วย ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากความช่วยเหลือนี้ เปิดเผยข้อมูลจากทาง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำกรุงเทพมหานคร ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีสหรัฐ สนับสนุนไทยในการต่อสู้กับโควิด-19 ดังต่อไปนี้
- รัฐบาลสหรัฐ ประกาศกรอบความร่วมมือเพื่อแบ่งปันวัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสทั่วโลกภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ในแผนการส่งมอบวัคซีน 25 ล้านโดสแรก จะมีวัคซีนจำนวน 7 ล้านโดสที่มอบให้กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ ได้ประกาศว่าจะมอบให้กับโครงการ COVAX
- รัฐบาลสหรัฐ มอบความช่วยเหลือให้ไทยเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 รวมมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้เป็นการบริจาคเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันรวมมูลค่า 17.5 ล้านดอลลาร์ ให้กับแพทย์และพยาบาลไทย รวมทั้งความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายตามแนวชายแดน
- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐ (U.S. CDC) ได้มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 13 ล้านดอลลาร์ โดยทำงานเคียงบ่าเคียงไหลกับกระทรวงสาธารณสุขของไทย
สนับสนุนและส่งเสริมการตอบโต้โควิด-19 ของไทยในทุกระดับ
- การตรวจหาการติดเชื้อ: องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ตลอดจน U.S. CDC และกองทัพสหรัฐ ได้ช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างศักยภาพการตรวจวินิจฉัย โดย USAID ช่วยไทยยืนยันผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกที่เดินทางมาจากต่างประเทศเมื่อเดือนมกราคม 2563
- การเฝ้าระวังชายแดน: U.S. CDC พัฒนาศักยภาพโครงการเฝ้าระวังในค่ายอพยพ 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในตัวอย่างส่งตรวจไปแล้วกว่า 1,500 ตัวอย่าง และตรวจพบการระบาด 3 แห่ง ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในค่ายตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดได้โดยเร็วและป้องกันการแพร่กระจายของโรคในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง
- การรักษา: USAID สนับสนุนการให้คำปรึกษาทางออนไลน์และมอบเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดเพื่อช่วยให้กลุ่มประชากรหลักที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองและเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยรวมไปถึงกลุ่มผู้อพยพ
- การพัฒนาวัคซีนและยา: นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของสหรัฐ กำลังร่วมมือกับภาคีชาวไทยศึกษาวิจัยวัคซีนในประเทศเพื่อเร่งรัดความพยายามในการปกป้องคนไทยในอนาคต
- การบริจาคชุด PPE: รัฐบาลสหรัฐ ได้บริจาคเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันรวมมูลค่า 17.5 ล้านล้านดอลลาร์ ให้กับแพทย์และพยาบาลไทย รวมทั้งมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายตามแนวชายแดน
- โครงการให้ความรู้กับผู้อพยพ: U.S. CDC และ USAID ดำเนินกิจกรรมกับชุมชนผู้อพยพ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาความสะอาดเพื่อยุติหรือลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แก่ผู้อพยพและประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนกว่า 117,601 คน
- การช่วยเหลือผู้กักตัว: USAID ร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่น “พ้นภัย” สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ใน 69 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยได้รับการแจกจ่ายชุดยังชีพ 188,203 ชุด พร้อมทั้งน้ำดื่ม (มูลค่าเกือบ 4 ล้านดอลลาร์) ได้โดยตรงและรวดเร็ว
- การวิจัย: ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐ ในประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยศึกษาวิจัยโครงการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประเมินความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนในการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรหลัก