รู้จัก "Chula-Cov19" วัคซีนฝีมือคนไทย ศักยภาพเทียบเท่า ไฟเซอร์-โมเดอร์นา
วารสารวิทยาศาสตร์ nature ยกย่องนักวิทยาศาสตร์ไทย ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ระบุว่า วัคซีน ChulaCov19 ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการ บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งของโลกที่พัฒนาวัคซีนขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับ Pfizer และ Moderna และเป็นวัคซีนที่ต่อยอดขึ้นเพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา และสายพันธุ์อังกฤษ รวมถึงยังอาจพัฒนาให้รับมือกับสายพันธุ์อินเดียได้อีกด้วย
วัคซีน "ChulaCov19" จะเริ่มทดสอบเฟสแรกในมนุษย์ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยใช้อาสาสมัครจำนวน 100 คน เพื่อหาจำนวนโดสที่เหมาะสมในการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยจะใช้บริษัทในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตวัคซีนทดลองล็อตแรกนี้
เทคโนโลยีการผลิตวัคซีน Chula-Cov19
เป็นการสังเคราะห์รหัสคำสั่งโดยใช้ชิ้นส่วนพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ส่วนที่เป็นปุ่มหนามของโปรตีน เมื่อฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย เซลล์จะทำการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อโควิด-19 ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อจดจำและตอบโต้เชื้อโควิด-19 รหัสคำสั่งที่เรียกว่า mRNA (messenger Ribonucleic Acid นี้จะเป็นคำสั่งชั่วคราว เมื่อทำหน้าที่เรียบร้อยจะสลายไปภายในไม่กี่วัน จึงไม่มีการสะสมในระยะยาวแต่อย่างใด
คุณสมบัติพิเศษของวัคซีน Chula-Cov19
สามารถเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้อย่างน้อย 3 เดือน และสามารถเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ได้อย่างน้อย 2 อาทิตย์ จึงสะดวกในการขนส่งและการใช้งานในต่างจังหวัด
ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีน Chula-Cov19
-จากการศึกษาโดยการใช้หนูทดลองพบว่า วัคซีน Chula-Cov19 มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ
-เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2564 จะเริ่มทดลองใช้วัคซีน Chula-Cov19 ในมนุษย์
-วัคซีน Chula-Cov 19 ต่อไปกำลังถูกพัฒนาเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 (แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์ B.1.1.7 (อังกฤษ)