ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ห้ามเเอบเเซ่บ สามีต่างชาติพักกับภรรยาไทย ต้องจดทะเบียน
ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ นำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส ไม่ต้องกักตัว ซึ่งโรงแรมได้ออกกฎชาวต่างชาติพักกับเมียไทย ต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย
กรณีโครงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ต้องกักตัว ที่จำกัดให้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเท่านั้น (ครบโดสอย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง) มีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน ซึ่งจะนำร่องด้วยการ เปิดเมืองภูเก็ต ภายใต้นโยบาย ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ Phuket Sandbox
มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งได้ผ่านครม.แล้ว ตอนนี้เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือรอประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งน่าจะออกภายในมิ.ย.เดือนนี้
ซึ่งความคืบหน้าเกี่ยวกับ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 ทาง นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงกรณีหากสามีเป็นชาวต่างชาติเดินทางเข้าภูเก็ต ซึ่งต้องเข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย(SHA+) และอยากพักร่วมกับภรรยาคนไทย ก็ต้องเป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นแค่แฟนสาว คู่รัก คู่ขา คู่นอนฯลฯ จะไม่อนุญาต รวมถึงคู่รักที่เป็นเพศที่ 3 ก็พักร่วมกันไม่ได้ แม้ในช่วงเวลากลางวัน ยกเว้นเป็นผู้ที่เดินทางมาด้วยกันตั้งแต่ประเทศต้นทาง
ทั้งนี้เงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศผ่านโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
- ต้องเป็นชาวต่างชาติและบินลงที่จังหวัดภูเก็ต
- ชาวต่างชาติต้องได้รับวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน
- ต้องเป็นผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต่ำ กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องมากับผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนแล้ว
- ต้องมีเอกสารการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลไม่พบเชื้อไม่เกิน 72 ชั่วโมง และต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีก 3 ครั้งในประเทศไทย ได้แก่ วันที่เดินทางมาถึง วันที่ 7 และ 14 โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา
- ต้องเดินทางถึงที่พักด้วยรถโรงแรมและรับการตรวจเชื้อ ไม่อนุญาตให้ออกนอกห้องจนกว่าผลการตรวจไม่พบเชื้อ จึงจะอนุญาตให้ท่องเที่ยวภายในจังหวัดภูเก็ตได้ เมื่อครบ 14 วัน จึงจะสามารถเดินทางไปเที่ยวต่อยังจังหวัดอื่นๆได้
นักท่องเที่ยวที่สามารถร่วมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์โดยไม่ต้องกักตัว
1 ผู้เดินทางอายุ 18 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน โดยเดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงปานกลาง/ต่ำ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข และททท.เลือกบางประเทศ
2 เด็กอายุ 12-17 6-18 ปี* สามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องกักกัน หากมาถึงภูเก็ตและเข้ารับการตรวจโควิด-19 ที่สนามบินโดยออกค่าใช้จ่ายเอง
3 เด็กอายุต่ำกว่า 12 6 ปี* เดินทางกับพ่อแม่และผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีน
สรุปมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2564
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564 ตามที่สำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ ดังนี้
ข้อ 8. หลักการการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
(เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอ ดังนี้
8.1 เกณฑ์การรับนักท่องเที่ยว แบ่งเป็น
ก่อนเดินทางเข้ามาถึง
1) ให้มีเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้
- หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry - COE)
- ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด - 19 (Medical certificate with a laboratory result indicating that COVID -19 is not detected) โดยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง
- กรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาลหรือหลักประกันอื่นใด ซึ่งรวมถึงกรณีโรคโควิด - 19 ตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางอยู่ในราชอาณาจักร ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯลฯ
2) กำหนดประเทศของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง หรือกลุ่มประเทศตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอ ทั้งนี้ กรณีที่มาจากประเทศอื่นต้องอยู่ในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน กรณีผู้มีสัญชาติไทย และชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยจะต้องเดินทางมาจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
3) ได้รับวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทยครบกำหนดสองเข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน ก่อนการเดินทาง และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (Vaccine Certificate) กรณีเด็กสามารถเดินทางมาพร้อมผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนตามที่กำหนด
4) กรณีเคยติดเชื้อ ต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดสองเข็ม (ตามประเภทวัคซีน) อย่างน้อย 14 วัน
8.2 ขั้นตอนการปฏิบัติ
ก่อนการเดินทาง
1) ยื่นเอกสาร – รับใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ
2) ยืนยันผลการอนุมัติพร้อมกับเอกสาร COE
3) ลงทะเบียนผ่านทาง www.entrythailand.go.th
เมื่อเดินทางมาถึง
4) ดำเนินการตามข้อกำหนดผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรฯ
5) ติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus ร่วมกับระบบสารสนเทศอื่นที่ทางจังหวัดกำหนด และในกรณีเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตต้องติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ)
6) เข้ารับการตรวจหาเชื้อการตรวจหาเชื้อโควิด - 19 ณ สนามบิน โรงแรมที่พัก หรือจุดตรวจ
7) เดินทางเข้าที่พักที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SHA Plus กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เข้าที่พักแบบ ALQ
ทราบผลการตรวจแล้วไม่พบเชื้อ สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้ (กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า สามารถออกนอกห้องพัก และใช้บริการในบริเวณที่พัก)
9) พำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน กรณีอยู่น้อยกว่า 14 คืน ต้องเป็นการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรด้วยเที่ยวบินตรงเท่านั้น
- กรณี เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า
วันที่ 1 - 3 นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกห้องพักและใช้บริการบริเวณที่พัก
วันที่ 4 - 7 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในระบบปิดตามเส้นทางที่กำหนด
วันที่ 8 - 14 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน เกาะเต่า โดยไม่กักตัวแบบมีเงื่อนไข
10) การตรวจหาเชื้อโควิด - 19 ด้วยวิธี RT - PCR อีกจำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 6 – 7 และ 12 – 13 หรือตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19
11) ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด
ก่อนเดินทางออก
12) ก่อนเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต/พื้นที่ของเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ไปจังหวัดอื่น ๆ ให้แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้พำนักในที่พัก SHA Plus/ALQ ตามระยะเวลาที่กำหนด และมีผลการตรวจเชื้อโควิด – 19 ตามที่ราชการกำหนด
8.3 การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการ
1) จังหวัดภูเก็ตดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเปิดเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Phuket Tourism Sandbox) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่บริหารจัดการ มอบหมายภารกิจ กำกับติดตามการเดินทางเข้า/ออกจังหวัดภูเก็ตของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยทั้งที่เดินทางจากต่างประเทศและภายในประเทศ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาจนกระทั่งเดินทางออกจากจังหวัด รวมถึงจัดทำระบบติดตามผลการปฏิบัติงาน ข้อมูลการเข้าออกของนักท่องเที่ยว การเฝ้าระวังและติดตาม ประเมินสถานการณ์การติดเชื้อ ข้อร้องเรียนหรือ ข้อคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติการและแนวทางแก้ไข เพื่อรายงานให้ ศปก.ศบค. และผู้บริหารระดับสูงทราบอย่างต่อเนื่อง
2) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า)
(1) มีระบบกำกับควบคุมในที่พัก (Covid Manager อาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงแรม)
(2) มีระบบกำกับควบคุมในการเดินทาง Sealed Route โดยที่พักและบริษัทนำเที่ยว
(3) จัดระบบควบคุมคัดกรองด่านเข้า-ออกทางอากาศและทางเรือทั้ง 3 เกาะ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อตรวจสอบ
8.4 การเตรียมความพร้อมประชาชน จัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในทุกช่องทางการสื่อสาร
8.5 การเตรียมความพร้อมมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค
1) จังหวัดภูเก็ต ใช้ระบบศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) และอาสาสมัครตำบลติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และแอปพลิเคชันหมอชนะ (ภาษาอังกฤษ) และดำเนินการตามมาตรฐาน SHA Plus และมาตรการ D-M-H-T-T-A
2) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า)
(1) จัดตั้งคณะทำงานดำเนินการตามแผนคัดกรองและเฝ้าระวัง
(2) สถานประกอบการต้องมีใบรับรองแสดงภูมิคุ้มกันหมู่
(3) ผู้ให้บริการที่ต้องสัมผัสตรงกับนักท่องเที่ยวต้องใส่ชุดป้องกันและรับวัคซีนครบ 2 โดส
(4) ดำเนินการตามมาตรฐาน SHA Plus และมาตรการ D-M-H-T-T-A
8.6 การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรด้านการแพทย์สาธารณสุข กำลังคนในการกำกับติดตาม และทรัพยากรสนับสนุนอื่น ๆ จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการจัดบุคลากรทางแพทย์ อุปกรณ์ และหอผู้ป่วยเพื่อรองรับกรณีมีผู้ป่วยอย่างเพียงพอ พร้อมจัดทำแผนเพื่อรับสถานการณ์โดยจัดตั้ง Command Center และคณะทำงานเพื่อกำกับดูแลและให้คำแนะนำ
8.7 การจัดทำแผนรับมือและแผนชะลอหรือยกเลิกโครงการ
จังหวัดภูเก็ต กรณีมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ มีลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล และมีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างที่หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้ มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ร้อยละ 80 ของศักยภาพ โดยจะมีมาตรการปรับเปลี่ยน 4 ระดับ ดังนี้
1) ปรับลดกิจกรรม
2) ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์ (Sealed route)
3) มาตรการกักตัวภายในสถานที่พัก Hotel Quarantine
4) ทบทวนยุติโครงการ Phuket Sandbox
เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จัดทำแผนเกณฑ์การยกเลิกการรับนักท่องเที่ยว เมื่อมีการระบาดโดยใช้ศักยภาพในการรองรับของโรงพยาบาลเกาะสมุย (โรงพยาบาลแม่ข่ายใน 3 เกาะ) เป็นเกณฑ์กำหนด โดยระบบของเกาะสมุยสามารถรองรับการติดเชื้อสะสมได้ในระบบ Samui Sealed Route Model ได้ 20 รายต่อ 2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถรองรับการระบาดรุนแรงของโรคได้ทั้งหมดในกรณีที่ไม่มีการส่งต่อ และสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น เมื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ติดเชื้อ และคาดการณ์ว่าจะมีการระบาดที่ระบบปกติจะไม่สามารถรองรับได้ จึงจะกลับไปใช้ระบบ ALQ ของกระทรวงสาธารณสุข
ที่ประชุมมีมติ รับทราบและเห็นชอบหลักการการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) โดยมีความเห็นและข้อสังเกต ดังนี้
1. การพิจารณาหลักการการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน และความพร้อมด้านสาธารณสุข เป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องดำเนินการและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะต้องติดตามและประเมินผลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
2. แนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น ๆ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอนั้น ควรให้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างผู้ประกอบการกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อทราบความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่
3. เกณฑ์การรับนักท่องเที่ยวที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทยครบ 2 เข็ม ตามประเภทวัคซีน หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน โดยจะต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก World Health Organization : WHO
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมและจำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้วเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของจำนวนตัวเลขที่มีแนวโน้มอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้
2. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 กรุงเทพมหานคร กระทรวงแรงงาน และกระทรวงยุติธรรม เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่กลุ่มเสี่ยงอื่นที่เป็นคลัสเตอร์ (Cluster) ทั้งในพื้นที่ชุมชนและแคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการระบาดของโรคโควิด - 19 เพิ่มขึ้น รวมทั้งให้มีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ในเรือนจำ/สถานกักกันด้วย
3. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 ดำเนินการในการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ดังนี้
3.1 กำหนดหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดการจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจัดสรรให้กับผู้ที่ขึ้นทะเบียนการฉีดวัคซีนไว้แล้ว และให้พิจารณาการจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น กลุ่มเรือนจำและผู้ต้องขัง กลุ่มครูและโรงเรียน กลุ่มนักบินและลูกเรือ พื้นที่จังหวัดชายแดน พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ พื้นที่การท่องเที่ยว พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น โดยพิจารณาตามความจำเป็นเร่งด่วน และความเป็นธรรมให้กับทุกกลุ่ม รวมทั้ง คำนึงถึงการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงในภาพรวมของประเทศด้วย
3.2 จัดทำรายละเอียดเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดและพื้นที่ให้มีความชัดเจน พร้อมนำเสนอจำนวนการจัดส่งวัคซีน และการฉีดวัคซีน โดยให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ (อำเภอ/เขต) และระดับกลุ่มเป้าหมาย
3.3 ให้กระทรวงแรงงาน จัดทำข้อมูลจำนวนแรงงานทั้งในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 และผู้ใช้แรงงานนอกระบบประกันสังคม เพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 สามารถดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนได้อย่างเหมาะสมต่อไป
4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการนัดหมายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 โดยให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนกำหนดเวลานัดหมายผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรหรือตามความพร้อมของหน่วยให้บริการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีประชาชนไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามที่ได้นัดหมายล่วงหน้า
5. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงกรณีการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ดังนี้
5.1 ให้เน้นย้ำหลักการดำเนินการของรัฐบาลที่ไม่ปิดกั้นภาคเอกชนในการจัดหาวัคซีน แต่เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ได้รับการอนุญาตขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ประเทศผู้ผลิตวัคซีนจึงกำหนดเงื่อนไขให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศผู้ซื้อวัคซีนเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อ สำหรับการกระจายวัคซีนได้มีการพิจารณาจากจำนวนประชากร สถานการณ์การแพร่ระบาด กลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ตามนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงมีการร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้สามารถกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง และให้จัดสรรงบประมาณในการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีนเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนอีกด้วย
5.2 ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลเอกชน และภาคเอกชน ที่ประสงค์ดำเนินการจัดหา/สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ทราบถึงขั้นตอน ระเบียบและวิธีการ การจัดสรรและการจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้งบประมาณของตนเอง รวมถึงความรับผิดชอบหากผู้รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น การจัดทำประกันที่คุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด - 19 (อาการแพ้วัคซีน หรือเสียชีวิต) เป็นต้น
6. ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ศูนย์ปฏิบัติแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง (ศปม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบมาตรการในแต่ละจังหวัดเพื่อให้สอดคล้องมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขอให้เน้นย้ำการป้องกันการทุจริตในทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 การผ่อนคลายมาตรการ การบริหารจัดการวัคซีน รวมทั้งเข้มงวดการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และการเปิดให้บริการของร้านอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น
ในส่วนของเรื่องของ 7 ขั้นตอน ของกระบวนผู้โดยสาร ขาเข้าระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต (HKT) ดังนี้
ขั้นตอนที่1 ผู้โดยสารผ่าน Thermo Scan โดยจะต้องมีอุณหภูมิไม่เกิน 37.3 °C หากพบว่ามีอุณหภูมิ
สูงเกินกว่าที่กำหนดจะต้องพักคอยอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อประเมินอาการเป็นลำดับต่อไป
ขั้นตอนที่2 ผู้โดยสารรับซิมการ์ด และติดตั้งแอพพลิเคชั่น “หมอชนะ” เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษและเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานจะตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร ณ บริเวณพักคอยผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ
ขั้นตอนที่3 เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ประกอบด้วย
1. Vaccine Passport
2. Insurance US$ 100,000
3. Lab Testing Result RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
4. แอพพลิเคชั่น “หมอชนะ”
หากผู้โดยสารที่เอกสารไม่ถูกต้องจะถูกปฏิเสธการเข้าประเทศทุกกรณี และจะถูกผลักดันกลับโดยสายการบินจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
ขั้นตอนที่4 เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ประกอบด้วย
1. COE
2. เอกสารการเข้าประเทศ เช่น Visa,
3. เอกสารการจองที่พัก SHA+
ขั้นตอนที่5 รับสัมภาระ
ขั้นตอนที่6 พิธีการทางศุลกากร
ขั้นตอนที่7 ผู้โดยสารเดินทางไปยังจุดลงทะเบียน SWAB ณ ประตูทางออกหมายเลข 2 เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อ โดยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วจะไปยังจุดนัดรับ เพื่อเดินทางไปยังที่พักและรับทราบผลการตรวจ ณ ที่พักเป็นลำดับต่อไป
*** ทั้งนี้ ขั้นตอน กระบวนการ อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ***