กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับสายพันธุ์เดลตา ลามเกินครึ่งกทม.แล้ว
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการแถลงยอมรับว่า โควิดสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในทุกเขตของ กรุงเทพฯ พบแล้วถึง 52% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่
วันนี้ (5 ก.ค.2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์โควิดในขณะนี้ โดยยอมรับว่า ขณะนี้โควิดสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในทุกเขตของ กรุงเทพฯ พบแล้วถึง 52% ของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ แซงหน้าสายพันธุ์อังกฤษอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้น เนื่องจากสายพันธุ์เดลต้า แพร่กระจายเร็ว 1.4 เท่า
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การตรวจสายพันธุ์ภาพรวมในประเทศ พบว่า สายพันธุ์เดลตา 32.2% สายพันธุ์อัลฟา 65.1% และเบตา 2.6% แต่หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ กทม.พบว่า สายพันธุ์เดลตา มีมากถึง 52% ขณะที่อัลฟา 47.8% และเบตา 0.2% ซึ่งถือว่าเป็นการระบาดที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ต่างจังหวัดหลายพื้นที่ก็เริ่มพบสายพันธุ์เดลตามากขึ้นเช่นกัน
ส่วนสายพันธุ์เบตา หรือแอฟริกาใต้ สัปดาห์ที่ผ่านนมาเพิ่ม 50 กว่าคน ยังจำกัดวงอยู่ที่จ.นราธิวาส มีกระจายไปจังหวัดใกล้เคียงอยู่พอสมควรที่ จ.สุราษฎร์ธานี มียืนยัน 1 คน นครศรีธรรมราช 3 คน กระบี่ 1 คน ส่วนกรุงเทพฯเพิ่มอีก 2 คน ซึ่งเป็นญาติของรายแรกที่พบการติดเชื้อ หมายความว่าพื้นที่กรุงเทพฯยังไม่ได้มีการกระจายไปไหนแต่ยังเป็นผู้ที่ติดจากรูปที่มาจากจังหวัดนราธิวาส
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการทดสอบภูมิคุ้มกันของประชาชน หลังได้รับวัคซีนโควิด โดยจะทดสอบในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 8 กลุ่ม คือ 1.ผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม 12 ตัวอย่าง 2.แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม 31 ตัวอย่าง 3.แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม 4.ซิโนแวคตามด้วยแอสร้าเซนเนก้า 8 ตัวอย่าง 5. ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 6.mRNA 2 เข็ม 20 ตัวอย่างจากผู้ที่เดินทางไปฉีด หรือมาจากต่างประเทศ 7.ซิโนแวค 1 เข็มตามด้วย mRNA และ8.แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ตามด้วย mRNA คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และจะเร่งทดสอบภูมิคุ้มกันในกลุ่มอื่น เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงโมเดลที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนสำหรับประเทศไทย จะเสนอฝ่ายนโยบายในการพิจารณาต่อไป