สธ.พิจารณาแล้ว ชง ศบค.เคาะ ล็อคดาวน์ 14 วัน งดเดินทาง - ห้ามออกจากบ้าน
ประกาศด่วนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เสนอศบค.เคาะ ล็อคดาวน์ 14 วัน เพื่อควบการติดเชื้อในประเทศไทย งดเดินทาง - ห้ามออกจากบ้าน แต่มีข้อยกเว้น 3 ประการที่ยังพออนุโลมให้ออกจากบ้านได้
ด้วยสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในแต่ละวัน อย่างเช่นล่าสุดวันนี้ (8 ก.ค. 64) ทางศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้รายงานถึงยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ว่า มียอดรวมรวม 7,058 ราย หายป่วยกลับบ้าน 4,978 ราย ผู้ป่วยสะสม 279,367 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) และเสียชีวิต 75 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้เหล่าดารา - นักแสดงได้ออกมาเล่าประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งน้ำตา
ล่าสุดมีประกาศด่วนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. อนุมัติให้ใช้ชุดตรวจอย่างง่าย rapid antigen แบบ swab ในสถานพยาบาลที่มีเตียงรองรับ สามารถทำได้เลย ถ้าผลเป็นลบให้กลับบ้านได้ ถ้าผลเป็นบวก ควรตรวจ RT-PCR ซ้ำอีก เพราะเป็นวิธีมาตรฐาน ส่วนเรื่องอนุญาตให้ตรวจ rapid antigen ที่บ้านจะเป็นระยะถัดไปเร็วๆ นี้
2. Home isolation และ Community isolation จะมีระบบสาธารณสุขเข้าไปดูแล ร่วมกับสปสช. จะทำการดูแลเป็นครอบครัว และมีเครื่องมือต่างๆ เช่น oximeter กำลังเร่งทำอยู่0
3. เน้นมาตรการบุคคลอย่างเข้มงวด DMHTT หรือ บับเบิ้ลแอนด์ซีลตัวเอง สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือให้เน้น work from home มากขึ้น
4. เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล และเร่งฉีดให้กลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอัตราการตาย ในสัปดาห์หน้าจะระดมฉีดที่กทม.
5. อันนี้สำคัญมาก ทางกระทรวงสาธารณสุข เสนอศบค. ให้มีการจำกัดการเดินทาง ไม่ออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ให้ออกมาซื้ออาหารได้ ฉีดวัคซีนได้ และปิดสถานที่ที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ตลาดเปิดได้ ตอนนี้กำลังรอศบค.พิจารณา เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถดูแลพี่น้องได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7ก.ค.64 ที่ผ่านมา ทาง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. เปิดเผยว่า กำลังรอข้อเสนออย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข ในการพิจารณาว่าจะล็อกดาวน์พื้นที่ระบาดโควิด-19 ซึ่งทาง ศบค.พร้อมที่จะรับพิจารณา เพราะต้องฟังข้อคิดเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นอันดับแรกและนำมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น การประชุมรับข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขก็จะเร็วขึ้นก่อนวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ โดยระหว่างนี้ก็เร่งหามาตรการในการแก้ไขสถานการณ์ เช่นการควบคุมการเคลื่อนย้าย การรักษาพยาบาล การจัดหาเตียงเพิ่มเติม เป็นต้น
หากเกิดการล็อกดาวน์ ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พื้นที่อื่นๆ ก็จะต้องมีมาตรการเสริมให้สอดคล้องกันด้วย เพื่อสอดคล้องกับพื้นที่ที่ล็อกดาวน์
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ณัฐพล ยอมรับว่า การล็อกดาวน์เมื่อเดือนเมษายน 2563 ผู้ประกอบการและคนที่มีรายได้ไม่ประจำกระทบและเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นกระทรวงการคลังรายงานว่า ต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาเดือนละ เกือบ 300,000 ล้านบาท ดังนั้นทาง ศบค.จึงคำนึงว่าการให้ประชาชนบางส่วนได้ทำมาหากินได้โดยไม่กระทบและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ท้ายสุดแล้วจะต้องมีการหารือและวิเคราะห์ปัจจัยในการแก้ไขปัญหา