"หมอนิธิพัฒน์"เผยแล้ว อีกสองสัปดาห์ข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวไปสู่จุดไหน
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 64
โดยรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้ระบุว่า
การตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินที่อาจดูยากลำบาก แต่หวังว่าจะช่วยย่นระยะทางไปสู่จุดหมายให้สั้นลง ลดการสูญเสียของสมาชิกร่วมเดินทาง เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องใช้ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวอย่างสูง แน่นอนย่อมมีคนได้รับผลกระทบจำนวนมาก จะทำอย่างไรให้การเยียวยาส่งไปยังผู้สมควรได้รับโดยไร้การเบียดบัง ทำอย่างไรให้มีการสอดส่องดูแลโดยภาครัฐเพื่อส่งผลให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาใช้งานได้จริง ทำอย่างไรจะดึงคนส่วนใหญ่ให้เห็นคล้อยตามและร่วมมือในการปฏิบัติ และทำอย่างไรให้ฝ่ายเห็นต่างมาร่วมเสนอแนะหาทางออกโดยลืมความบาดหมางในอดีตไว้ชั่วคราว
นับจากนี้อีกสองสัปดาห์เป็นอย่างน้อย ประเทศชาติจะเข้าสู่สภาวะจำศีล (hibernation) ทุกคนจะต้องช่วยกัน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เหมือนที่เราเคยทำกันได้สำเร็จในระลอกแรก เราจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคใหญ่หลวงนี้ไปให้ได้ด้วยกัน สำหรับในกทม.และจังหวัดสีแดงเข้ม เรายังมีงานด้านการแพทย์สำคัญรออยู่ข้างหน้า 3 งานด้วยกัน คือ
1. การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าจากการล็อคดาวน์แบบเข้มงวด เพื่อให้ภาคการแพทย์ได้ทำการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดที่ตกค้างเดิมและที่จะมีเพิ่มใหม่ในช่วงนั้นให้ได้ดีที่สุด และถ้าเป็นไปตามแผนนี้ ภายหลัง 14 วันไปแล้ว ยอดผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตจะเริ่มลดลงจนอยู่ในระดับที่ภาคการแพทย์ยอมรับได้ เพื่อให้งานบริการทางการแพทย์ทั้งส่วนโควิดและไม่ใช่โควิดดำเนินไปได้ควบคู่กันตามมาตรฐานใหม่ และที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์กลับมามีขวัญและกำลังใจเพื่อฝ่าฟันงานหนักกันต่อไปให้ได้นานที่สุด
2. การเร่งตรวจค้นหาผู้ป่วยรายใหม่แล้วเร่งนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาเพื่อลดการสูญเสียและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน จะต้องปูพรมเอกซเรย์ทุกพื้นที่หาผู้ติดเชื้อให้ละเอียด ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนและจากพื้นที่ที่การระบาดยังไม่มากมาช่วยกันทำภารกิจให้เสร็จสิ้นใน 14 วัน ในระหว่างที่งานข้อ 1. ช่วยตรึงประชาชนให้อยู่กับที่ นำระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและในชุมชนมาใช้ภายใต้การสนับสนุนและกำกับดูแลจากภาคการแพทย์ และจัดเตรียมระบบเตียงในการรองรับผู้ป่วยที่จะมีเพิ่มขึ้นมากให้เพียงพอในทุกระดับความรุนแรง
3. การปรับยุทธศาสตร์วัคซีนให้เหมาะสม เน้นปกป้องบุคลากรด่านหน้าและประชาชนกลุ่มเสี่ยง ควบคู่ไปกับการเริ่มกระจายสู่ประชาชนทั่วไปให้ครอบคลุมเข็มแรกและเข็มสองเร็วที่สุด
สำหรับข้อถกเถียงการนำ antigen testing (ทางการแพทย์ตัดคำ rapid ออก เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่าเป็นการตรวจที่ได้ผลเร็วแต่อาจไม่แน่นอน) มาใช้เพื่อลดความคับคั่งของการตรวจค้นหาผู้ป่วยในชุมชน จะต้องดำเนินการโดยมีภาคการแพทย์ควบคุมคุณภาพ ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อทราบผลการตรวจทั้งผลบวกและผลลบ และเชื่อมต่อผลการตรวจที่เป็นบวกเข้ากับระบบการตรวจยืนยันและระบบรับตัวเข้ารับการรักษาโดยภาคการแพทย์ หรือให้แยกกักตัวเพื่อรักษาหรือดูแลตัวเองที่บ้านหรือในชุมชนภายใต้การกำกับดุแลของภาคการแพทย์
ตามแผนภูมิคำแนะนำของหน่วยงานควบคุมโรคติดเชื้อแห่งอเมริกาล่าสุด ให้แยกในขั้นต้นก่อนว่าผู้เข้ารับการตรวจมีอาการหรือไม่ ถ้าไม่มีอาการแล้วผลเป็นลบจะต้องแยกกักตัวสังเกตอาการที่บ้านหรือไม่ขึ้นกับว่ามีหรือไม่มีประวัติสัมผัสเสี่ยง แต่ถ้าผลตรวจเป็นบวกสามารถเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวเพื่อรักษาที่บ้านหรือในชุมชน แต่ถ้าผู้เข้ารับการตรวจมีอาการเข้าได้กับโรคโควิด-19 อย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 ข้อ คือ ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ถ่ายเหลว จมูกไม่รับกลิ่น ลิ้นไม่รับรส แล้วผลการตรวจเป็นลบต้องทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีพีซีอาร์ต่อเพื่อจะพิจารณาทำการแยกกักตัวสังเกตอาการที่บ้านหรือเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวเพื่อรักษาที่บ้านหรือในชุมชน แต่ถ้าผลการตรวจเป็นบวกก็ให้เข้าสู่ระบบการแยกกักตัวเพื่อรักษาที่บ้านหรือในชุมชนได้เลยถ้ามีความพร้อม ดังนั้นการตรวจ antigen testing ในช่วงที่มีการะบาดสูงนี้ จะช่วยลดการตรวจยืนยันได้ยกเว้นกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีอาการแต่ผลการตรวจเป็นลบ
#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ