อนุทิน ไฟเขียว ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับยี่ห้อ เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตราเซนเนกา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล แถลงผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ กระทรวงสาธารณสุข ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า คณะกรรมการฯมีการพิจารณา 4 เรื่อง โดย 2 เรื่องเกี่ยวข้องกับการ ปรับแผนฉีดวัคซีน
วันนี้ (12 ก.ค.2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแถลงผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ กระทรวงสาธารณสุข ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า คณะกรรมการฯมีการพิจารณา 4 เรื่อง โดย 2 เรื่องเกี่ยวข้องกับการ ปรับแผนฉีดวัคซีน ได้แก่
1. คณะกรรมการโรคติกต่อฯเห็นชอบ ให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซนเนกา ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อประสิทธิภาพ ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ให้เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น โดยรพ.ดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
2. ที่ประชุมรับทราบการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือ บูสเตอร์โดสสำหรับบุคลการทางการแพทย์ด่านหน้า โดยให้เข็ม 3 ห่างจาก เข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรก เกิน 4 สัปดาห์แล้วจึงให้กระตุ้นได้เลย วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุดต่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อจากการทำงานประจำในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเชื้อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์เป็นเดลตานั้น มีความจำเป็นที่จะต้องต้องบูสเตอร์โดสให้กับุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยแก่บุคลากรจะได้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ส่วนบูสเตอร์โดสนั้นจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก เนื่องจากมีข้อมูลวิชาการระบุว่าการให้วัคซีนคนละชนิดเป็นเข็มกระตุ้น มีผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคลเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ แหล่งข่าวในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่านโทรศัพท์ว่า มติข้อที่ 1 คือ การฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็มที่ 1 เป็น ซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า จะดำเนินการฉีดในประชาชนทั่วไป จากนี้ไปจะไม่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ซึ่งจากข้อมูลการฉีดเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค แล้วเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเกือบเท่ากับการฉีด แอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ข้อดีคือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มสูงได้ในเวลาเร็วกว่า