หมอสุภัทร เผยเหตุผลถึงจุดต้องเกณฑ์แพทย์ชนบท บุกกรุงตรวจโควิดชุมชนแออัด
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท เผยเหตุผลถึงจุดต้องเกณฑ์แพทย์ชนบทจากหลายโรงพยาบาล บุกกรุงตรวจโควิดชุมชนแออัด
จากกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทจากหลายโรงพยาบาล ยกพลบุกกรุงกว่า 60 ชีวิต แบ่งเป็น 6 ทีม ได้แก่ ทีมจากนครศรีธรรมราช , ทีมจากขอนแก่น , ทีมจากสงขลา 1 คือ รพ.จะนะ , ทีมจากสงขลา 2 คือ รพ.สมเด็จพระบรมราชืนีนาถ ณ อำเภอนาทวี และบวกด้วย รพ.ตากใบ , ทีมจากกาญจนบุรี คือ รพ.ด่านมะขามเตี้ย , ทีมจากน่าน คือ รพ.บ่อเกลือ ออกรถเดินทางไป 6 สาย ลุยตรวจโควิดเชิงรุกในชุมชนแออัด โดยตั้งเป้า 3 วัน ตรวจ 2-3 หมื่นราย
ขณะที่ทางด้าน นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงเวลาต้องพาแพทย์จากชนบท เข้าช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ใน กทม. โดยระบุข้อความว่า "ทำไมแพทย์ชนบทต้องบุกกรุง สถานการณ์โควิดนั้นหนักหนามากทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ทีมแพทย์ชนบทชุดแรก 6 ทีมจาก นครศรีธรรมราชที่นำโดย รพ.สิชล จากขอนแก่น จาก รพ.จะนะ รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี รพ.ด่านมะขามเตี้ย และ รพ.บ่อเกลือ รวมทั้งคุณหมอจาก รพ.ตากใบที่บินเดี่ยวขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกัน เป็นกลุ่มแรกที่อาสาหลังจากขอแรงกันจริงจังในวันจันทร์ และให้ออกเดินทางวันอังคาร เพื่อลงมือปฏิบัติการในวันพุธ-พฤหัส-ศุกร์ นี้แล้วกลับที่ตั้งในวันเสาร์ ไปปราบโควิดในอำเภอตนเองต่อไป
เราแพทย์ชนบทรู้ว่าการระบาดในต่างจังหวัดก็หนักไม่น้อย แต่ในกรุงเทพนั้นหนักมากๆ ผู้คนแทบจะไม่เข้าถึงการตรวจโควิด ยกตัวอย่างเช่น มีคนป่วยเป็นโควิดในครอบครัว หากเป็นต่างจังหวัด เราก็จะตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมาตรวจ เพื่อหาคนมีเชื้อ ใครมีเชื้อก็จัดที่ให้นอนให้กัก จะได้ลดการแพร่เชื้อ แต่ที่ กทม.นั้น ระบบการคัดกรองตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงนั้นทำไม่ไหว หรือในหลายพื้นที่ไม่มีคนทำ ไม่รู้ว่าใครจะทำ ผลก็คือ ผู้ที่มีเชื้อโควิดต่างก็ไม่รู้ว่าตนมีเชื้อหรือไม่ แม้เขาจะลดการเดินทางแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสแพร่ระบาดให้กับคนในครอบครัว ในชุมชน
หลายๆคนในแพทย์ชนบทที่ยังพอมีแรงเหลือ มีหัวใจนักสู้ มีพลังแห่งวิชาชีพที่อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ จึงรวมพลังบุกกรุง แม้จะฉุกละหุก และมาเพียง 6 ทีมแรก แต่ก็เป็นการเริ่มต้นการก้าวออกจากชนบท ก้าวออกจากโลกโซเชียลมาสู่ปฏิบัติการจริงที่สำคัญยิ่ง ประกอบกับเมื่อรัฐบาลไฟเขียวให้ใช้ rapid test ในการตรวจหาเชื้อโควิดได้ (ซึ่งควรจะอนุมัติไฟเขียวนานแล้ว) จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ตรวจปุ๊ปทราบผลเบื้องต้นปั๊ป ทำให้การควบคุมโรคทำได้ง่ายขึ้นมาก การบุกกรุงมาตรวจสวอปจึงมีความหมายในทันที
การบุกกรุงนั้นความสำคัญอยู่ที่การเตรียมการ การบุกกรุงครั้งนี้ ทาง สปสช.เป๋นองค์กรหลักที่รับเป็นเจ้าภาพในการดูแลที่อยู่ที่กินทั่วไปให้กับทีมที่มา รวมทั้งประสานกับทีมโควิดชุมชนในการเตรียมชุมชน เมื่อเรามาที่กรุงเทพ ที่นี่ไม่ใช่บ้านเรา ขับรถยังไม่ถูก ดังนั้นจึงต้องมีทีมโควิดชุมชนที่ทำงานกับชุมชนแออัด กับชุมชนกลุ่มยากจนในกรุงเทพ ช่วยประสานการนัดหมาย เตรียมสถานที่ รวมทั้งเข้าพื้นที่เพื่อร่วมทำงาน เช่น การลงทะเบียน การจัดคิว การแจ้งผล การตามผู้ป่วยและญาติมาตรวจเพิ่มกรณีที่ผลบวกเป็นต้น มิเช่นนั้น การเข้าชุมชนดุ่ยๆนั้นเป็นไปไม่ได้เลย จะโกลาหลอย่างที่สุด
แท้จริงการบุกกรุงครั้งนี้ มีนัยยะเชิงสัญญะที่แพทย์ชนบทอยากสื่อสารกับสังคมไทยว่า วิกฤตครั้งนี้หนักหน่วงและรุนแรง ทุกคนต้องช่วยกัน แพทย์ชนบทช่วยได้มุมที่เราช่วยได้ บริษัทห้างร้านก็ช่วยได้ในมุมของเอกชน โรงพยาบาลเอกชนก็ช่วยได้อีกมายมายหลายเรื่อง ทุกองค์กรทุกคนต่างใช้ความรู้ความสามารถและทักษะของตนเองมากู้ภัยโควิดในครั้งนี้ได้ ไม่ต้องช่วยแต่บริจาคของให้โรงพยาบาลก็ได้ คนที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าคือชุมชน คือคนเล็กคนน้อยที่กำลังจะอดมื้อกินมื้อ คือคนลำบากที่ตกงาน คือผู้ประกอบการที่ล้มทั้งยืน คือคนติดเชื้อโควิดที่ป่วยไม่มีใครเหลียวแลต้องตายเดียวดายอยู่ที่บ้าน และอีกหลายๆวิกฤตที่ยังเหลื่อมล้ำและสิ้นหวัง การบุกกรุงในครั้งนี้ แม้เราจะช่วยคนกรุงได้เพียงเล็กน้อย แต่ก็หวังว่า นี่คือคำร้องขอของแพทย์ชนบทต่อทุกองค์กร ให้ลงมือปฏิบัติการในโลกแห่งความเป็นจริงร่วมกัน เพื่อก้าวผ่านโควิดไปด้วยกัน และสร้างสังคมใหม่ที่เหลื่อมล้ำน้อยลงในอนาคต นี่คือเหตุผลที่เรา "แพทย์ชนบทบุกกรุง"
ขอบคุณ FB : นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ