วิจัยพบวัคซีน สูตรทนร้อน ประสิทธิภาพเจ๋ง ป้องกันเชื้อได้ทุกสายพันธุ์หลัก
xinhuathai รายงานว่า องค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ของออสเตรเลีย พบว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด "ทนทานต่อความร้อน" ซึ่งเหมาะสมสำหรับพื้นที่ห่างไกลนั้นมีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) สายพันธุ์สำคัญทุกสายพันธุ์
ในการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ก.ค.) คณะนักวิจัยจากองค์กรฯ ได้ประเมินประสิทธิภาพของกลุ่มสูตรวัคซีนโควิด-19 ชนิดทนร้อนที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย (IISc) และบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอย่างมินแวกซ์ (Mynvax) และพบว่าสูตรของวัคซีนกลุ่มดังกล่าวสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสฯ สายพันธุ์เฝ้าระวัง (Variant of Concern-VOC) ทั้งหมดได้อย่างแข็งแกร่ง จากการทดลองในหนูและแฮมสเตอร์
เอส.เอส. วาซาน ผู้นำโครงการวิจัยโรคโควิด-19 ขององค์กรฯ และผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าวในการแถลงต่อสื่อว่า “ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่า สูตรวัคซีนทั้งหมดของมินแวกซ์ที่ได้รับการทดสอบสามารถสร้างแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสฯ สายพันธุ์อัลฟา (Alpha) เบตา (Beta) แกมมา (Gamma) และเดลตา (Delta) ซึ่งเป็นสายพันธุ์เฝ้าระวังได้”
ที่สำคัญคือสูตรวัคซีนกลุ่มดังกล่าวสามารถคงความเสถียรที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 1 เดือน และคงความเสถียรที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ได้นาน 90 นาที
เมื่อเทียบกันแล้ว วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค จะต้องเก็บรักษาในห้องเย็นแบบพิเศษที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และวัคซีนแอสตราเซเนกาจะต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ทำให้วัคซีนทั้ง 2 ตัว ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกลและมีทรัพยากรจำกัด
ข้อมูลเหล่านี้ที่รวบรวมโดยองค์กรฯ จะถูกนำไปใช้ในการเลือกสูตรวัคซีนของมินแวกซ์ ที่จะนำมาทดลองทางคลินิกในมนุษย์ในประเทศอินเดียต่อไป ภายในปี 2021 นี้
ร็อบ เกร็นเฟลล์ ผู้อำนวยการด้านสาธารสุขและความมั่นคงทางชีวภาพขององค์กรฯ กล่าวว่า การศึกษาชิ้นนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจำเป็นของการร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาวัคซีนและวิธีรักษาโรคโควิด-19 ต่อไป
“วัคซีนชนิดทนทานต่อความร้อนหรือวอร์มวัคซีน (warm vaccine) นั้นมีความสำคัญสำหรับพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัดซึ่งมีสภาพภูมิอากาศร้อนจัด และไม่มีระบบห่วงโซ่รักษาความเย็นที่ดีพอ” เกร็นเฟลล์ระบุ