"ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี"เผยแล้ว กำหนดส่งวัคซีนไฟเซอร์ถึงไทย
ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC เผยวันส่งวัคซีนไฟเซอร์ ( mRNA) ล็อตแรก 1.5 ล้านโดส ถึงประเทศไทย พร้อมทั้งเร่งเจรจาสั่งซื้อวัคซีนครอบคลุมไวรัสกลายพันธ์ุ ให้ ประชาชนได้ฉีดโดยเร็วที่สุด
เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี – PMOC ได้มีรายงานว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย - สหรัฐฯ #วัคซีนไฟเซอร์ (mRNA) ล็อตแรก 1.5 ล้านโดส ถึงประเทศไทย 29 ก.ค. นี้
รัฐบาลเดินหน้าเร่งเจรจาสั่งซื้อวัคซีนครอบคลุมไวรัสกลายพันธ์ุ ให้ ประชาชนได้ฉีดโดยเร็วที่สุด
การบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของไทย เป็นการบริหารจัดการแบบบูรณาการมีส่วนราชการที่เข้ามาร่วมกันทำงานในลักษณะคณะกรรมการในนาม “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” โดยมีแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่พิจารณาร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งในที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีน 120 ล้านโดสในปี 2565 นอกเหนือจาก 105.5 ล้านโดสที่จะจัดหามาภายในปี 2564 นี้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ยังเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ในเบื้องต้นจำนวน 20 ล้านโดส โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้เจรจาและสั่งซื้อ รวมทั้งให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลางเจรจากับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ในการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นลำดับ
แผนการจัดหาวัคซีนและการกระจายวัคซีนโดย ศบค. เป็นการทำงานร่วมกันในระดับนโยบายที่มีคำแนะนำด้านวิชาการจากคณะแพทย์ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาวัคซีนหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้แก่ วัคซีน AstraZeneca, วัคซีน Sinovac, วัคซีน Pfizer และวัคซีน Johnson& Johnson โดยมีวัคซีน Sinopharm และวัคซีน Moderna เป็นวัคซีนทางเลือกภายใต้แนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน ได้เสนอแนวทางในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐและวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน และให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดหาวัคซีนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการแล้ว เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดหาวัคซีนในภาพรวมของประเทศต่อไป ขณะเดียวกันในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นไปตามแผนและกรอบเวลาที่กำหนด รวมถึงการเจรจาต่อรองกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ. ศบค. และที่ประชุม ศบค. ยังมีแนวทางในการเร่งรัดเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมดังนี้
1. เร่งเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 (2nd Generation) ที่จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์
2. เร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยแพลตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจาก Viral vector Platform เช่น Inactivated Platform หรือ mRNA Platform เป็นต้น
3. สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3
4. สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในประชากรไทย รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมเพื่อพิจารณาการจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและหญิงตั้งครรภ์
นายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้มากที่สุดและฉีดให้ทุกคนในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการป่วย และเสียชีวิตให้มากที่สุด รวมทั้งปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ