มาเลเซีย ชี้ประสิทธิภาพ วัคซีนไฟเซอร์- ซิโนแวค ไม่แตกต่างกันในการใช้งาน
นายแพทย์นูร์ ฮิแชม อับดุลลาห์ อธิบดีกรมสุขภาพของมาเลเซีย เผยเมื่อ 20 ก.ค. ปฏิเสธคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานของ วัคซีนซิโนแวค อ้างอิงข้อมูลจากการใช้งานจริงว่ามันมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับวัคซีนของไฟเซอร์ ในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ประสิทธิภาพของวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 นายแพทย์นูร์ ฮิแชม อับดุลลาห์ อธิบดีกรมสุขภาพของมาเลเซีย กล่าวว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค และวัคซีนของบริษัทซิโนแวค ต่างก็มีประสิทธิผลเท่าเทียมกันในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 นายแพทย์อับดุลลาห์ กล่าวว่า ข้อมูลจากการใช้จริง พบว่า วัคซีนทั้งสองตัวต่างก็มีค่าประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ใกล้เคียงกัน พร้อมอ้างอิง รายงานจาก New England Journal of Medicine วันที่ 7 ก.ค. ระบุว่า ผลการใช้วัคซีนซิโนแวคในชิลีระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค.พบว่า ซิโนแวคสามารถลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 65.9%, ลดการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 87.5%, ลดการรักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) ได้ 90.3% และลดการเสียชีวิตได้ 86.3% โดยมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวมาจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 4.2 ล้านคน เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 5.5 ล้านคน
ส่วนการทดลองวัคซีนของไฟเซอร์ ซึ่งพบว่ามีประสิทธิผล 95% นั้น มาจากกลุ่มตัวอย่างที่น้อยมาก โดยมีการวิเคราะห์จากผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพียง 170 คน โดย 8 คนได้รับการฉีดวัคซีน ส่วนอีก 162 คนไม่ได้รับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ นายแพทย์อับดุลลาห์ ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล เปิดเผยว่า ประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคในการป้องกันการติดเชื้อลดลงสู่ระดับ 64% นับตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. แม้ว่ายังมีประสิทธิผล 93% ในการลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
ดังนั้น จึงไม่มีความแตกต่างมากนักระหว่างประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์และซิโนแวคในการใช้จริง โดยวัคซีนทั้งสองตัวต่างก็มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรง และการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล