อ.นิติ จุฬาฯ ยกข้อกฎหมายแย้ง รมว.ดีอีเอส หลังขู่ดารา Call Out
อ.นิติ จุฬาฯ ยกข้อกฎหมายแย้ง รมว.ดีอีเอส หลังขู่ดารา Call Out ยันการวิจารณ์รัฐบาลด้วยเหตุผล เป็นเสรีภาพ-รธน.คุ้มครอง ถ้าเรื่องไหนไม่ถูกต้องรัฐบาลก็ออกมาชี้แจง ไม่ใช่ฟ้อง
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Ponson Liengboonlertchai ถึงกรณีที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ออกมาเตือนเหล่าดารา และนักแสดง รวมถึงเหล่าคนดัง อย่าใช้โซเชียลมีเดียโจมตีรัฐบาล อาจถือเป็นการสร้างเฟกนิวส์ ซึ่งมีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมีการระบุข้อความว่า
กรณีที่ท่าน รมว.ดีอีเอส ออกมากล่าวว่า จะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ออกมาวิจารณ์รัฐบาล ผมเห็นว่าคำกล่าวเช่นนี้ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจหลักกฎหมายผิดไป จึงขออธิบายหลักกฎหมายดังนี้
1.ไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง หรือใครก็แล้วแต่ รวมถึงคนธรรมดาอย่างเราๆ มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of opinion) ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Fundamental rights) ของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง หากเขามีความคิดความเห็นอย่างไรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล หรือแม้แต่ท่าน รมว. เอง ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปด่าทออย่างไม่มีเหตุมีผล พวกเขาย่อมมีเสรีภาพที่ทำได้เสมอ รัฐธรรมนูญคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนตรงนี้ อันเป็นการสอดคล้องกับหลักการในทางกฎหมายอาญาที่รับรองว่า ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดหากเป็นการติชมอย่างสุจริต
2.ท่าน รมว. ต้องเข้าใจว่า "รัฐบาล" รวมถึงท่านเองเป็น "องค์กรของรัฐ" (Public entity) หรือเจ้าหน้าที่รัฐ (Public official) ที่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชน ท่านไม่ใช่ "องค์กรเอกชน" (Private entity) หรือเอกชนทั่วๆ ไป การที่ประชาชนแสดงความคิดความเห็นจึงเป็นกรณีที่ "เจ้าของอำนาจอธิปไตย" ซึ่งอนุญาตให้พวกท่านเข้าไปทำงานอยู่ตอนนี้ กำลังตรวจสอบพวกท่าน ตามครรลองของ "ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน" ตามหลักและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ "รัฐบาลจึงมีหน้าที่" ที่จะต้องรับฟังการแสดงความคิดเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของประชาชน
3.จากข้อ 2 หากท่านเห็นว่า ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์บนฐานข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง รัฐบาล หรือท่านเองสามารถชี้แจงถึงข้อเท็จจริงทำความเข้าใจกับประชาชน หาใช่ดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย ซึ่งกรณีเช่นนี้ ศาลในต่างประเทศเองก็เคยมีคำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา ฯลฯ รวมถึงศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ที่เคยมีคำวินิจฉัยดคีที่เกี่ยวกับกรณีรัฐบาลฟ้องเอกชนไว้อย่างชัดเจนว่า "องค์กรของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ควรต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนบนความอดทนอดกลั้นต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่สูงกว่าองค์กรอื่นๆ"
ผมคิดว่าทางรัฐบาลเองอาจต้องกลับไปทบทวนและทำความเข้าใจให้ดีเสียใหม่ว่า ท่านเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศได้เพราะใคร หากไม่ใช่เพราะประชาชนอนุญาต การมาไล่ดำเนินคดีกับประชาชนไม่ว่าบุคคลใด นอกจากจะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำตามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังเป็นการขัดแย้งกับหลักการทางรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายอีกด้วย
"การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (Criticism of government) คือเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นหัวใจสำคัญที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองสำหรับการถกเถียงอภิปรายได้อย่างเสรี (Free discussion) เพราะเสรีภาพนี้ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการทำงานของตนเอง" ศาลสูงสุดแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US Supreme Court)
ขอบคุณ FB : Ponson Liengboonlertchai