ชาวเน็ตถล่มเดือด สธ. เผยผลศึกษา วัคซีนซิโนแวค ป้องกันได้ 90%
สธ. เผยผลการศึกษาประสิทธิภาพ วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แต่ทำไมให้ผลดีเกินคาด ชาวเน็ตแห่ถามคิดเลขยังไง ติดเชื้อ 116 คน จากผู้เสี่ยงสูง 500 คน แต่บอกว่าป้องกันได้ 90.5% แบบนี้เฟกนิวส์หรือไม่ !?
จากกรณีเพจ ไทยรู้สู้โควิด และ ศูนย์ข้อมูลโควิด 19 ซึ่งเป็นเพจประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 ของ กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล ได้เผยแพร่ข้อมูลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 ซิโนแวค จากการนำไปฉีดให้คนไทย 4 แหล่ง แต่ข้อมูลที่นำเสนอกลับถูกตั้งข้อสงสัยอย่างมากว่าคำนวณอย่างไร ทำไมถึงออกมาเป็นแบบนั้น ดังต่อไปนี้..
1.จ.ภูเก็ต ติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2564 จำนวนกว่า 1,500 ราย พบการติดเชื้อเพียง 124 ราย หากเทียบกันระหว่างผู้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน พบว่าประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.7%
2.จ.สมุทรสาคร ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 500 ราย ช่วงเดือนเมษายน 2564 พบติดเชื้อ 116 ราย ประสิทธิผลป้องกันติดเชื้ออยู่ที่ 90.5%
3.จ.เชียงราย ติดตามการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุข ช่วงเดือนมิถุนายน 2564 กว่า 500 ราย พบการติดเชื้อ 40 ราย
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความรุนแรงเรื่องปอดอักเสบ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพบว่า ประสิทธิผลของซิโนแวค 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 88.8% และป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9% สำหรับบุคลากรที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มครบ 14 วัน ป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 83.8%
4. กรมควบคุมโรค ใช้ฐานข้อมูลติดตามบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อทั้งประเทศ และข้อมูลการรับวัคซีนช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่การระบาดเป็นสายพันธุ์อัลฟา พบว่าประสิทธิผลซิโนแวค 2 เข็ม อยู่ที่ 71%
ดังนั้น หากฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม สามารถป้องกันติดเชื้อจากสายพันธุ์อัลฟาได้ประมาณ 90% และป้องกันปอดอักเสบได้ 85% ส่วนประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาถือว่ายังคงที่ สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้น และการฉีดสลับประเภทของวัคซีนนั้น จากการศึกษาทางห้องปฏิบัติการ พบว่าจะสามารถเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้ได้สูงกว่าเดิมได้รวดเร็วและสูงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตเกิดความสงสัยในข้อมูลการศึกษาดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะของ จ.สมุทรสาคร ที่ใช้ข้อมูลจากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 500 ราย แล้วพบติดเชื้อ 116 ราย กลับคิดเป็น 90.5% ทั้งที่ต้องเป็น 76.8% บ้างก็แซวว่าให้ส่งครูคณิตศาสตร์ไปช่วยที รวมถึงมองว่าเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องมีความน่าเชื่อถือ แต่กลับผิดพลาดด้วยข้อมูลการคำนวณเปอร์เซ็นต์แบบนี้ บ้างก็ว่าให้ข้อมูลผิดแบบนี้เป็นเฟกนิวส์หรือไม่
อีกทั้งการนำผู้เสี่ยงสูงมาใช้เป็นประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวค ก็ไม่ถูกต้อง เพราะในบางคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่เป็นผู้เสียงสูงก็อาจไม่ติดเชื้อได้เช่นกัน ฉะนั้น จึงไม่ใช่การแสดงประสิทธผลที่แท้จริงของวัคซีน รวมถึงมีหลายคนที่บอกว่าฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว ไปตรวจภูมิคุ้มกันมา มีค่าน้อยมาก