กรมสรรพากร เล็งรื้อโครงสร้างภาษีใหม่ แก้ไขความเหลื่อมล้ำ
"สรรพากร" เล็งรื้อโครงสร้างภาษีปรับค่าลดหย่อนภาษี-ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำช่วยคนชั้นกลางได้รับประโยชน์มากขึ้น เดิมเอื้อคนรายได้สูง
วันที่ 2 ส.ค. 64 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า แนวทางการปรับโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากรคือการปรับปรุงค่าลดหย่อนภาษีและการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหลักการคือจะต้องดำเนินการเพื่อเอื้อให้คนชั้นกลางได้ผลประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากค่าลดหย่อนทางภาษีเงินได้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่คนที่ได้ประโยชน์ คือ คนที่มีรายได้สูง ส่วนคนชั้นกลางที่อยู่ในฐานภาษีได้รับประโยชน์ที่น้อยกว่า
สำหรับการปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเห็นว่าหากจะปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องลดให้กับคนชั้นกลางลงมาที่อยู่ในฐานภาษี แต่ปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องแก้ไขประมวลกฎหมายของกรมฯ และมีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นอัตราแบบขั้นบันได (Progressive Rate)
นอกจากนี้ปัจจุบันค่าลดหย่อนทางภาษีที่กรมฯให้กับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีมากเกือบ 20 รายการ คิดเป็นค่าลดหย่อนทางภาษีรวมกันทุกรายการมากกว่า 2 ล้านบาท เช่น ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ 6 หมื่นบาท,ค่าลดหย่อนบุตร 3 หมื่นบาทค่าใช้จ่ายในการซื้อเบี้ยประกันชีวิตที่มีกรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป หักลดหย่อนตามจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท
นอกจากนี้ยังมีการลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการซื้อหน่วยลงทุน RMF 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท และเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่เกิน 15%ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นต้น
ส่วนบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งได้ปรับปรุงอัตราและขั้นบันไดของเงินได้ใหม่ และเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2560 ได้กำหนด 8 ขั้นบันไดของเงินได้ เริ่มตั้งแต่เงินได้ที่ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี, เงินได้ที่มากกว่า 150,000 แต่ไม่เกิน 3 แสนบาทเสียในอัตรา 5 % และขั้นบันไดสุดท้ายหรืออัตราสูงสุด คือ รายได้ที่มากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป จ่ายในอัตรา 35%
อนึ่งก่อนหน้านี้รายได้ของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลมาโดยตลอด ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีของประเทศ โดยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลลงมา แต่ยังไม่สามารถปรับเพิ่มภาษีโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจยังไม่เหมาะสม ยิ่งทำให้รายได้ของรัฐบาลลดต่ำลง
ทั้งนี้ใน 8 เดือนแรก (ต.ค.63-พ.ค.64 ) ของปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.441 ล้านล้านบาทต่ำกว่าเป้าหมาย 1.98 แสนล้านบาท หรือ 12. 1% ขณะที่กรมสรรพากร ซึ่งเป็นกรมฯ ที่ทำรายได้มากที่สุดจัดเก็บได้ 1.059 ล้านล้านบาท แต่ก็ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.38 แสนล้านบาท หรือ11.5% ส่วนในปีงบประ มาณ 2563 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.394 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.36 แสนล้านบาท หรือ 12.3%