ประกาศ สธ. กำหนดผู้ป่วยโควิด-เเพ้วัคซีน เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ฟรีค่าใช้จ่าย
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมาย กรณีโควิด-19 ผู้ป่วยโควิด หรือเกิดอาการแพ้วัคซีน ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมาย
วันที่5ส.ค.64 ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (ฉบับที่ 2) ความว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ในปัจจุบัน รัฐได้กำหนดมาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19 ตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมการป้องกันและขจัดโรคโควิด-19 จากสถานพยาบาลที่ภาครัฐกำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หากบุคคลผู้รับการฉีดวัคซีนเกิดอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 บุคคลดังกล่าวมจึงมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล จึงเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และมาตรา 33/1 แห่งพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถานพยาบาล จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 2)”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน โรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 3 ให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โดยการฉีดวัคซีนตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมการป้องกันและขจัดโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) จากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับการฉีดวัคซีน เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน จากสถานพยาบาลตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.สถานพยาบาล ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews