กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์สู้ภัยโควิด ผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี

09 สิงหาคม 2564

กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์สู้ภัยโควิด ผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี เปิดให้ผู้กู้ยืมแจ้งขอปรับโครงสร้างหนี้แบบภาคสมัครใจ

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เปิดให้ผู้กู้ยืมแจ้งขอปรับโครงสร้างหนี้แบบภาคสมัครใจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ และยืดเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี ส่วนผู้กู้ยืมที่อยู่ในระบบหักเงินเดือน สามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่หักเหลือขั้นต่ำ 10 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมในช่วงโควิดระบาด
 

กยศ.

 

 

1.การปรับโครงสร้างหนี้
- กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี กรณีไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้ยืมเดิมได้

- เงื่อนไข
* สามารถผ่อนได้สูงสุด 30 ปี แต่ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
* กองทุนจะให้ผู้กู้ยืมมาตกลงขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน โดยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เงื่อนไขการผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
* กองทุนจะคำนวณยอดหนี้คงเหลือใหม่ โดยนำเงินที่ผู้กู้ยืมชำระหนี้เงินกู้ยืมคืนมาแล้วทั้งหมดมาปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระใหม่ โดยตัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามงวดครบกำหนดชำระหนี้ จนครบจำนวนเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระมาเท่านั้น สำหรับเบี้ยปรับในอดีตที่ตัดชำระไปแล้ว ถือว่าผู้กู้ยืมได้ชำระครบถ้วนแล้ว
* จากนั้นกองทุนจะนำเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยคงเหลือใช้เป็นยอดหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนเบี้ยปรับคงค้างที่สะสมอยู่ในระบบจนถึงปัจจุบัน กองทุนจะให้ส่วนลดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 80 และให้ชำระเบี้ยปรับคงเหลือร้อยละ 20 ในงวดสุดท้าย

- วิธีการ
* ผู้กู้ยืมสามารถแจ้งความประสงค์ขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ.Connect  หรือทางเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป โดยผู้กู้ยืมต้องตรวจสอบข้อมูลของตนเองและผู้ค้ำประกัน และ Update ข้อมูลต่างๆให้เป็นปัจจุบัน เช่น เบอร์โทรศัพท์ e-mail ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ สถานที่ทำงาน โดยมีขั้นตอนการแจ้งความประสงค์เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้ 
       - ลงชื่อเข้าใช้งาน กรอกเลขประจำตัวประชาชน และรหัสผ่าน
       - เลือกเมนูขอปรับโครงสร้างหนี้ “ยื่นคำขอปรับโครงสร้างหนี้”
        - เข้าสู่หน้ายืนยันข้อมูล ระบบจะให้ตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏ พร้อมให้ระบุ “เบอร์โทรศัพท์มือถือ (เบอร์ปัจจุบันที่ติดต่อได้)” ทำเครื่องหมายถูกหน้าช่อง “ข้าพเจ้ายืนยันข้อมูลฯ” จากนั้นกดปุ่ม “ยืนยัน”
       - หากสำเร็จระบบจะแสดงข้อความว่า “ระบบได้ส่งคำขอปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ท่านมีหน้าที่ตรวจสอบและบันทึกข้อมูล เพิ่มเติมเมื่อได้รับแจ้งจากกองทุน”

* ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอปรับโครงสร้างหนี้ กยศ.
       ​- กลับมาที่หน้าหลัก กดเลือก “ตรวจสอบรายละเอียดคำขอ”
       - ระบบจะแสดงหน้ารายละเอียดข้อมูลคำขอ จากนั้นให้ตรวจสอบตรงช่องสถานะ ระบบจะขึ้นข้อความว่า “ลงทะเบียน/รอตรวจสอบและบันทึกข้อมูล”

2. การปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่
- กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี

- เงื่อนไข
จากเดิมกองทุนมีวิธีการตัดลำดับการชำระหนี้ โดยตัดชำระเบี้ยปรับค้างชำระสะสม ดอกเบี้ยค้างชำระสะสม แล้วจึงตัดเงินต้นค้างชำระของงวดที่ค้างนานที่สุดก่อนตามลำดับ กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระใหม่ โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระหนี้ไปตัดชำระเงินต้น และดอกเบี้ยของแต่ละงวด เริ่มจากงวดที่นานสุดก่อนแล้วจึงค่อยตัดชำระยอดหนี้ที่ค้างชำระนานรองลงมาตามลำดับ จนถึงงวดปัจจุบัน หากมีเบี้ยปรับให้นำมาชำระในงวดสุดท้าย

3. การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน
- กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่ยังไม่ครบกำหนดชำระเงินคืน ลักษณะที่ 1 ลักษณะที่ 2 และลักษณะที่ 3

- เงื่อนไข
* จากเดิมต้องผ่อนงวดชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผู้กู้ยืมผ่อนงวดชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน โดยกำหนดชำระทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน
* เพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนจากเดิมไม่เกิน  15 ปี ปรับเป็นไม่เกิน 30 ปี ขึ้นอยู่กับยอดหนี้เงินกู้ยืมของผู้กู้ยืมแต่ละราย 
* การชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ 
 

แนวทางในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมที่ถูกหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง

* ผู้กู้ยืมสามารถขอปรับลดจำนวนเงินที่นายจ้างหักและนำส่งกองทุนเพื่อชำระเงินงวดที่จะครบกำหนด วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และ/หรือผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระเป็นรายเดือน จากเดิมต้องไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อเดือน เป็นคงเหลือต้องไม่น้อยกว่า 10 บาทต่อเดือน เป็นการชั่วคราว
* มีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 - มิถุนายน 2565
* ผู้กู้ยืมจะต้องแจ้งความประสงค์ขอปรับจำนวนเงินดังกล่าวต่อกองทุนผ่านแอปพลิเคชัน กยศ.Connect
* ผู้กู้ยืมยังคงมีหน้าที่ไปชำระส่วนต่างตามช่องทางที่กองทุนกำหนดให้ครบตามจำนวนเงินงวดที่ต้องชำระตามเงื่อนไขของสัญญารายเดือน (ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน) และเงื่อนไขการชำระหนี้ของสัญญารายปี (ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565) แล้วแต่กรณี มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดนัดชำระหนี้และต้องชำระเงินเพิ่มอันได้แก่ เบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินคืนตามอัตราที่กองทุนฯ กำหนดของเงินต้นงวดที่ค้างชำระ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการหักเงินได้พึงประเมินด้วยระบบรับชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาผ่านกรมสรรพากร (e-PaySLF)
* หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ไลน์บัญชีทางการ กยศ.หักเงินเดือน

 

ลาซาด้า

 

ขอบคุณ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา