"โควิด-19ป่วยวิกฤติไทย"ทะยานเบอร์ 1 อาเซียน
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทย
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทย ระบุว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 12 สิงหาคม 2564...
ทะลุ 205 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 645,789 คน รวมแล้วตอนนี้ 205,384,893 คน ตายเพิ่มอีก 9,693 คน ยอดตายรวม 4,336,091 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ อเมริกา อินเดีย อิหร่าน บราซิล และฝรั่งเศส
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 100,804 คน รวม 36,997,553 คน ตายเพิ่ม 525 คน ยอดเสียชีวิตรวม 635,504 คน อัตราตาย 1.7%
อินเดีย ติดเพิ่ม 43,641 คน รวม 32,076,974 คน ตายเพิ่ม 519 คน ยอดเสียชีวิตรวม 429,702 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 31,697 คน รวม 20,245,085 คน ตายเพิ่ม 858 คน ยอดเสียชีวิตรวม 565,748 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 21,571 คน รวม 6,512,859 คน ตายเพิ่ม 799 คน ยอดเสียชีวิตรวม 167,241 คน อัตราตาย 2.6%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 30,920 คน ยอดรวม 6,370,429 คน ตายเพิ่ม 54 คน ยอดเสียชีวิตรวม 112,410 คน อัตราตาย 1.8%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 86.61 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
ส่วนเกาหลีใต้ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมากถึง 42,541 คน สูงกว่าระลอกที่แล้วถึง 2 เท่า จำนวนการเสียชีวิตต่อวันก็เพิ่มขึ้นด้วย
กัมพูชา จีน ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนสิงคโปร์ และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...สถานการณ์ของไทยเรา
จำนวนการติดเชื้อใหม่ของเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย
ล่าสุดยอดติดเชื้อสะสมเป็นอันดับที่ 35 ของโลก ด้วยอัตราการติดเชื้อแบบปัจจุบัน จะทะลุล้านได้ภายในไม่ถึงสองสัปดาห์
ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ 5,407 คน สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน
...อัพเดตความรู้เกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และเกร็ดเลือดต่ำ หลังฉีดวัคซีน (Vaccine induced immune thrombocytopenia and thrombosis: VITT)
เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวานนี้ 11 สิงหาคม 2021 ในวารสารการแพทย์ระดับโลก New England Journal of Medicine
Pavord S และคณะ จากสหราชอาณาจักร รายงานผลการวิจัยติดตามลักษณะอาการทางคลินิกของผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และเกร็ดเลือดต่ำ หลังได้รับวัคซีน ChAdOx1 nCoV-19 adenovirus vector ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2021 ถึง 6 มิถุนายน 2021
มีผู้ป่วยจำนวน 294 คนที่ได้รับการดูแลรักษา โดยจากการประเมินพบว่า 170 คนที่เป็นที่แน่ชัดว่าเกิดภาวะดังกล่าว และ 50 คนที่มีอาการที่เป็นไปได้ที่จะเป็นภาวะดังกล่าว
ทั้งนี้ผู้ป่วยทุกคนมีประวัติได้รับวัคซีน ChAdOx1 nCoV-19 adenovirus vector มาแล้วในเข็มแรก และเกิดอาการป่วยหลังได้รับวัคซีนมา 5-48 วัน
โดยครึ่งหนึ่งจะเกิดอาการภายใน 14 วัน
อายุของผู้ป่วยมีได้ตั้งแต่ 18-79 ปี โดยครึ่งหนึ่งจะอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 48 ปี
ที่สำคัญคือ หากเกิดภาวะนี้ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 22%
นอกจากนี้ ถ้ามีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำในสมองจะมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงกว่าการเกิดอุดตันในที่อื่นๆ ราว 2.7 เท่า และหากมีปัญหาเกร็ดเลือดต่ำลงกว่าปกติครึ่งหนึ่งจากระดับเริ่มต้น จะมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า
พบว่าผู้ป่วยที่มีเกร็ดเลือดต่ำกว่า 30,000 ต่อคิวบิกมิลลิลิตร และมีภาวะเลือดออกในสมอง จะมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 73%
การวิจัยนี้ช่วยทำให้เข้าใจธรรมชาติของภาวะดังกล่าวมากขึ้น เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง ติดตามผลการดูแลรักษา
และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อให้มีความรู้ และสามารถเฝ้าระวัง ประเมินอาการของตนเอง หลังจากได้รับวัคซีนด้วย
สำหรับสถานการณ์ของไทยเรานั้น การระบาดยังรุนแรง กระจายไปทั่ว ยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้
ขอให้เรามีกำลังใจในการป้องกันตัวอย่างเต็มที่ ตั้งเป้าให้ตนเองและครอบครัวไม่ติดเชื้อ
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก
ด้วยรักและห่วงใย
อ้างอิง
Pavord S et al. Clinical Features of Vaccine-Induced Immune Thrombocytopenia and Thrombosis. NEJM. 11 August 2021.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews