หมอทวีทรัพย์ ยังยืนยัน วัคซีนซิโนแวค ประสิทธิผลดี แม้โควิดสายพันธุ์เปลี่ยน
หมอทวีทรัพย์ ยังยืนยัน "วัคซีนซิโนแวค" ประสิทธิผลยังดี แม้โควิดสายพันธุ์เปลี่ยน พร้อมขอให้ช่วยกันเชิญชวนและพาผู้สูงอายุไปรับวัคซีน
วันที่ 17 ส.ค. 2564 นพ.ทวีทรัพย์ ศิริประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบออนไลน์ ว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศไทยหลักๆ คือ ซิโนแวคฉีด 2 เข็ม ห่าง 3 สัปดาห์ และแอสตร้าเซนเนก้า ฉีด 2 เข็ม ห่าง 8-12 สัปดาห์ ที่ผ่านมาการดูประสิทธิภาพของวัคซีนจะเป็นการดูจากการทดลองทางคลินิกในประเทศอื่นๆ ซึ่งลักษณะการระบาดของสายพันธุ์แตกต่างจากประเทศไทย
สำหรับความก้าวหน้าการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้จริงในประเทศไทยช่วงปี 2564 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์การระบาดในประเทศไทยจากปี 2563 เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม ปลายปี 2563 ระบาดที่ จ.สมุทรสาคร เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง เม.ย. 2564 เป็นสายพันธุ์อังกฤษ และ พ.ค. – ปัจจุบัน เป็นสายพันธุ์เดลตานั้น กรมควบคุมโรค โดยคณะทำงานการประเมินประสิทธิผลของการใช้จริง ได้ศึกษาประสิทธิผลวัคซีนที่ฉีดในบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ เม.ย.ถึงปัจจุบัน โดยศึกษาข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ในไทยว่ามีการติดเชื้อเท่าไร และสืบค้นว่าคนติดเชื้อได้รับวัคซีนอะไร
และกล่าวต่อว่าจากการศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – ก.ค. พบบุคลากรทางการแพทย์ทำงานใน รพ. หรือสถานที่ต่างๆ มีการติดเชื้อ 3,906 คน และนำมาศึกษาว่ามีประวัติการรับวัคซีนอย่างไร และเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่รับวัคซีน โดยสร้างแบบตัวเปรียบเทียบขึ้นมาจากฐานข้อมูลฉีดวัคซีนของประเทศไทย ผลเบื้องต้นพบบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อและรับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มนานเกิน 14 วัน จำนวน 2,154 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบที่ติดเชื้อและไม่ได้ฉีดวัคซีนมีจำนวน 598 ราย ประสิทธิผลการป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตอยู่ที่ 98% ส่วนการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 72% เมื่อจำแนกเป็นรายเดือน พบว่า พ.ค.อยู่ที่ 71% มิ.ย. 74% และ ก.ค. 71% ถือว่ายังไม่ลดลง แนวโน้มคงที่ไม่ได้ต่ำกว่า 70% แต่อย่างใด
"ถือว่าสอดคล้องกับทุกการศึกษาต่างๆ ในต่างประเทศและทั่วโลกว่า วัคซีนมีประสิทธิผลทั้งการป้องกันการติดเชื้อและและป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยเฉพาะป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตที่ใกล้เคียงกับ 100% ดังนั้น วัคซีนซิโนแวคที่เราใช้ในการฉีด 2 เข็ม ยังมีประสิทธิผลดีในแง่การป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ โดยช่วง เม.ย. – 20 มิ.ย. 64 การระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อัลฟาสูงมากถึง 89% และตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นไปสัดส่วนการระบาดของเชื้อเดลตาสูงขึ้น จนสัปดาห์สุดท้ายของ ก.ค. เป็นการระบาดส่วนใหญ่ในไทย 78.2% แต่ประสิทธิผลของผู้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มยังคงที่"
นพ.ทวีทรัพย์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดการติดเชื้อ ป่วยรุนแรง และเสียชีวิต วัคซีนที่ใช้ในไทยขณะนี้ ทั้งซิโนแวคครบ 2 เข็ม หรือแอสตร้าฯ ที่ฉีดเข็มเดียวหรือ 2 เข็ม มีประสิทธิผลช่วยลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การฉีดวัคซีนครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตยังค่อนข้างต่ำอยู่ ขอให้ช่วยกันเชิญชวนและพาผู้สูงอายุไปรับวัคซีน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยกันควบคุมป้องกันการติดเชื้อ และลดการเสียชีวิต"