รมช.ศธ. คาดอีกเดือนกว่าทำได้ตามเป้า จ่อเปิดเทอม ทยอยฉีดไฟเซอร์ให้นักเรียน
รมช.ศึกษาธิการ วางแผนยุทธศาสตร์ กระจายวัคซีนไปฉีดให้นักเรียน 4 ล้านกว่าคน คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนกว่า เตรียมพร้อมเปิดเทอม
26 ส.ค.64 นางสาวกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ตอบชี้แจงแทนรมว.ศึกษาธิการในประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภาว่า จำนวนครูและบุคลากรการศึกษามีเกือบ 9 แสนคน ยอดล่าสุด ณ วันที่ 26 ส.ค.64 ได้ฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลาการการศึกษาไปแล้วเกือบ 6 แสนคน เหลืออยู่ประมาณ 3.2 แสนคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
ส่วนจำนวนนักเรียนอายุ 12 - 18 ปี มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน แม้กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ตั้งงบประมาณซื้อวัคซีนฉีดให้เด็กนักเรียนไว้ แต่ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขว่า ทันทีที่วัคซีนไฟเซอร์ที่สามารถฉีดให้เด็กและเยาวชนอายุ 12 -18 ปี เข้ามาปลายเดือน ก.ย. 2 - 3 ล้านโดส เมื่อเข้ามาถึงแล้วจะวางแผนยุทธศาสตร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระจายวัคซีนไปฉีดให้นักเรียน 4 ล้านกว่าคน
ซึ่ง เร็วที่สุดคาดว่าใช้เวลา 1 เดือนกว่า จะฉีดได้ตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อเปิดเทอมให้เด็กกลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความปลอดภัยช่วงนั้นๆ ว่าจะเปิดเรียนได้หรือไม่
ก่อนหน้านี้ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 5 /2564 โดย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ที่ประชุม สช. ได้มีข้อเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการไปยังรัฐบาลในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับนักเรียน เพื่อทำให้โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดได้เร็วขึ้น และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและนักเรียน
ทั้งนี้ในส่วนของครูโรงเรียนเอกชนได้รับรับเสียงสะท้อนว่าส่วนใหญ่รัฐบาลได้มีการจัดสรรให้ได้รับการฉีดไปมากพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ปัจจุบันการที่โรงเรียนเอกชนต้องหยุดการเปิดภาคเรียนทำให้ไม่มีรายรับจากการชำระค่าเทอม ทางรัฐบาลจึงได้มีการพิจารณาเงินขวัญกำลังใจจำนวน 2,000 บาท ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนก็ได้มีการประสานกับโรงเรียนต่างๆ ทำให้เห็นว่าโรงเรียนต่างให้ความสนใจทำให้ทาง
สช.ได้รับความร่วมมือในการแจ้งข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เพราะเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน อยากให้เกิดความก้าวหน้ายังผลประโยชน์กับผู้ปกครองประชาชนและผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการทำห้องเรียนที่เป็นอัตลักษณ์อย่างโดดเด่น เช่นเรื่องห้องเรียน 2 ภาษา ของโรงเรียนเอกชนเพื่อให้ผู้เรียนและประชาชนได้เห็นความชัดเจนว่าโรงเรียนที่ถูกต้อง จะต้องปฏิบัติและมีมาตรฐานในการจัดการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง เป็นต้น
“ส่วนของโรงเรียนนอกระบบ ได้มีการมอบหมายให้หารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อที่จะได้มีมาตรการในการเยียวยาให้กับโรงเรียนนอกระบบที่นอกเหนือจากที่อยู่ใน 29 จังหวัด และขณะนี้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนประสานกับกระทรวงแรงงานไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ทาง สช.ยังมีการขอความร่วมมือและจัดทำหลักสูตรต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายโรงเรียนนอกระบบก็จะสามารถดำเนินการเปิดสอนได้ในหลายหลักสูตรทันที
ขณะเดียวกันจากข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการและที่ประชุม กช. ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการแจ้งข้อมูลนี้ไปยังกระทรวงการคลังด้วย นอกจากนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีการหารือถึงการยกร่างในเรื่องของเงินกู้จาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่จะเป็นรูปแบบซึ่งจะครอบคลุมมายังการเรียนรู้การศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งโรงเรียนนอกระบบจะได้ประโยชน์ตรงนี้ด้วย โดยคนที่จะมาอัพสกิลรีสกิล หรือเรียนหลักสูตรต่างๆก็สามารถกู้เงินกยศ.ได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสช.ด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
cr.
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.