นักวิจัยพัฒนา "ผิวหนังอัจฉริยะ" ช่วยตรวจจับโรคขณะสวมใส่
สถาบันเทคโนโลยีอิสราเอล (Technion) เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยชาวจีนและอิสราเอลได้พัฒนาผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อใช้สำหรับการตรวจจับโรคในระยะเริ่มต้น
แอดวานซ์ แมททีเรียล (Advanced Materials) วารสารวิทยาศาสตร์รายสัปดาห์ อธิบายว่าผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นระบบตรวจจับที่ยืดหยุ่นได้นี้ ได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีอิสราเอลและวิทยาลัยวิชาการคินเนต์ทางตอนเหนือของอิสราเอล ร่วมกับนักวิจัยชาวจีนจากมหาวิทยาลัยซีเตี้ยนในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน
คณะนักวิจัยระบุว่า แผ่นผิวหนังเทียมทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่สวมใส่ได้ ซึ่งจะตรวจจับท่วงท่าการโค้งงอและบิดตัวได้อย่างแม่นยำสูงสุดที่ 0.5 องศา โดยเป็นแผ่นระบายอากาศที่ทนทานและมีน้ำหนักเบา ง่ายต่อการสวมใส่เป็นเวลานาน รวมถึงสามารถรองรับน้ำหนักและสามารถยืดหยุ่นได้มากโดยไม่ฉีกขาด
ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้เพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินหายใจในระยะเริ่มต้น ความผิดปกติของระบบประสาท อย่างโรคพาร์กินสัน และอื่นๆ รวมถึงสามารถเร่งการฟื้นฟูในผู้ประสบอุบัติเหตุ และสามารถนำมาใช้ร่วมกับแขนขาเทียมเพื่อใช้เป็นเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อหรือผิวหนังด้วย
นอกเหนือจากนั้น ผิวหนังใหม่นี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับวิทยาการหุ่นยนต์ เนื่องจากสามารถให้การตอบสนองที่แม่นยำเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และอาจใช้เพื่อช่วยตรวจสอบระบบและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ
“วัสดุที่ใช้ในการพัฒนาผิวอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีราคาถูกมาก รวมถึงอุปกรณ์ตรวจจับก็มีราคาไม่แพงเช่นกัน โดยราคาเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก หากเราต้องการสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก” คณะนักวิจัยทิ้งท้าย
ที่มา xinhuathai