"ทนายเจมส์" ลั่น"ผกก.โจ้"หาข้ออ้างป่วยไบโพลาร์หวังรอด ฟังไม่ขึ้น
"ทนายเจมส์"ยกคำพิพากษาเทียบเคียงให้ดู ซัด ผกก.โจ้ อ้างว่ามีจิตบกพร่อง หรือเป็นโรคไบโพล่า เพื่อไม่ต้องรับโทษนั้นฟังไม่ขึ้น
"ทนายเจมส์" หรือ นายนิติธร แก้วโต ได้ออกมาร่ายยาวผ่านเพจเฟซบุ๊คของตนเอง ทนายเจมส์ LK เกี่ยวกับคดีผู้กำกับโจ้ มีกระแสข่าวว่าจะผู้ต้องหาในคดีถุงดำคลุมหัว ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ คำถาม คือ ผู้ต้องหาจะรอดพ้นคดีนี้ได้หรือไม่ หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
วรรคสอง แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ จากหลักกฏหมายข้างต้น ผู้ที่ไม่ต้องรับโทษในการกระทำความผิดทางอาญา จะต้องกระทำความผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจาก มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือ จิตฟั่นเฟือน
การที่ผู้ต้องหาพูดคุยตอบโต้ได้ตามปกติ ให้สัมภาษณ์สื่อได้ เช่น อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อธิบายมูลเหตุจูงใจที่ใช้ถุงคลุมหัวผู้ตาย เพื่อเค้นข้อมูล เพื่อปราบปรามยาเสพติด ปกป้องประชาชนให้พ้นยาเสพติด และยังยอมรับผิดคนเดียว ลูกน้องเพียงทำตามคำสั่ง ตลอดจนสามารถติดต่อพูดคุยกับผู้บังคับบัญชา เพื่อขอเข้ามอบตัวได้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องหาสามารถรู้ผิดชอบ และยังสามารถบังคับตนเองได้เป็นปกติ พูดจาโต้ตอบมีสติปกติ
ส่วนตัวเห็นว่า การที่ผู้ต้องหาจะอ้างว่า มีจิตบกพร่อง หรือ ป่วยเป็นโรคไบโพล่า เพื่อไม่ต้องรับโทษนั้น ฟังไม่ขึ้น เทียบเคียง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2559 ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟซบุ๊กเพราะมีอาการบกพร่องทางจิตหรือไม่ เห็นว่า เดิมผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีอาการบกพร่องทางจิต ทั้งพฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟซบุ๊กต่อเนื่องหลายคราว ก็ไม่ปรากฏว่ามีความผิดปกติทางจิต จนไม่อาจรับรู้การกระทำของตน หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เมื่อถึงวันที่ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริง ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้สื่อสารพูดคุยโต้ตอบได้เป็นปกติ ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นโรคไบโพล่า มีอาการผิดปกติทางจิต จึงรับฟังไม่ได้
ข้อความที่ผู้ถูกกล่าวหาลงแสดงในเฟซบุ๊กมีข้อความที่ไม่เป็นความจริงกล่าวหาว่าศาลดำเนินคดีไม่เป็นธรรม และไปถ่ายรูปในบริเวณศาลนำมาลงประกอบข้อความเท็จของตนในเฟซบุ๊กว่าศาลเรียกเงิน และมีข้อความลงข่มขู่ศาลว่าจะยิงทำร้าย ขอให้ผู้พิพากษาระวังตัว อันเป็นข้อความที่ประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาล และเป็นการรายงานกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่ถูกต้องและเป็นเท็จ
แม้ผู้ถูกกล่าวหาลงข้อความในเฟซบุ๊กโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหา แต่เมื่อข้อความส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายรูปบุคคลในบริเวณศาล เพื่อนำไปประกอบข้อความเท็จที่ตนใช้แสดงต่อสาธารณชน ย่อมถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงข้อความเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในศาล แสดงความเท็จว่าตนถูกศาลกลั่นแกล้งเป็นความผิดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 32 (2) ด้วย อันเป็นการกระทำต่างกรรม ต่างเจตนา และต่างบทกฎหมาย ชอบที่จะลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทั้งสองกรรม
คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ได้ความรู้อยู่ 2 ส่วน คือ
1. การที่จะอ้างว่า มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนนั้น จะต้องถึงขั้นที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดีได้ หรือไม่สามารถบังคับตัวเองได้ หรือ พูดจาไม่รู้เรื่อง
2.การถ่ายภาพในบริเวณศาล และนำไปโพสต์ใน Facebook ประกอบข้อความข่มขู่ผู้พิพากษาให้ระวังตัว ก็ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้ และ หากเป็นข้อความเท็จ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง ก็จะเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหาก ถือเป็นการกระทำความผิด ต่างกรรมต่างวาระ ต่างเจตนา ต่างบทกฎหมาย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews