ศาลตัดสินแล้ว เซเว่น อีเลฟเว่น ชนะคดีกรณีถูกกล่าวหาก็อปปี้สินค้าบานาน่า
ศาลฎีกาพิพากษาแล้ว เซเว่น อีเลฟเว่น ชนะคดีกรณีถูกกล่าวหาก็อปปี้สินค้าบานาน่า คนเขียนบทความไม่ปฏิบัติตามสัญญาต้องลงประกาศพร้อมชดใช้ค่าเสียหาย
ตามที่ เมื่อวันที่ 21-22 เมษายน 2558 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นถูก นายชิน รติธรรมกุล (“นายชินฯ”) เขียนและเผยแพร่บทความหมินประมาทจำนวน 2 ตอน ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นในทำนองว่า บริษัทฯ เป็นบริษัทใหญ่ แต่ไปรังแกผู้ประกอบการรายย่อยที่เสนอสินค้าเข้ามาขายในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ด้วยการลอกเลียนสูตรสอดไส้ครีมคัสตาร์ดรสกล้วยของผู้ประกอบการรายย่อยแล้วนำไปทำการค้าหาประโยชน์เอง อันเป็นการรังแกเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อย โดยบทความดังกล่าวถูกส่งต่อในสังคมออนไลน์ และเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลาย ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ในการประกอบการของบริษัทฯ ตลอดมานั้น
บริษัทฯ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่นายชินฯ ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328 ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง และเสนอสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการ
ต่อมา พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องนายชินฯ เป็นจำเลย ข้อหาหมิ่นประมาทตามบทกฎหมายดังกล่าว ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2843/2559 ซึ่งนายชินฯ ได้เปิดเผยความจริงว่า นายชินฯ ได้รับข้อมูลและเนื้อหาบทความดังกล่าวมาจาก นางสาว พ. โดยที่นายชินฯ เองก็ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ และได้จัดทำบทความไปโดยไม่เคยสอบถามความเป็นจริงจากบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้แสดงหลักฐานในการดำเนินคดีให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่มีการกระทำใดที่จะไปกระทำหรือเอาเปรียบผู้ประกอบการรายย่อยตามที่กล่าวหาในบทความ ซึ่งนายชินฯ ได้ทำหนังสือแสดงความรู้สึกเสียใจและขอโทษบริษัทฯ ต่อหน้าศาล โดยนายชินฯ ยินดีที่จะแก้ไขฟื้นฟูความเสียหายของบริษัทฯ ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและจะเผยแพร่บันทึกประนีประนอมยอมความระหว่างบริษัทฯ กับ นายชินฯ และเอกสารย่อคำฟ้องคดีอาญา (“บันทึกฯ”) ที่แสดงถึงเหตุการณ์ในเรื่องนี้ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 7 วันนับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2560 และจะลงติดต่อกับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 รายละเอียด บันทึกฯ ปรากฏตามเอกสารแนบ
บริษัทฯ จึงได้แสดงน้ำใจโดยไม่ต้องการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้รู้สำนึก และไม่ใช่ตัวการที่แท้จริง ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาและไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายจากนายชินฯ คดีจึงได้ระงับไปตามคดีอาญาแดงที่ อ.987/2560 แต่นายชินฯ กลับไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ (“สัญญาฯ”) ที่ได้กระทำต่อหน้าศาลดังกล่าว บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องฟ้องนายชินฯ ในข้อหาผิดสัญญาฯ ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.860/2560
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าว และคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลพิพากษาว่า นายชินฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาฯ และนายชินฯ ต้องลงประกาศบันทึกฯ ในเว็บไซต์โอเคเนชั่นภายใน 30 วันนับแต่ได้รับคำบังคับต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 8 เดือน 26 วัน นายชินฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ เป็นเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัทฯ ด้วย
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องชี้แจงให้ประชาชน และเรียนย้ำต่อคู่ค้าของบริษัทฯ ได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัทฯ และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงการใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลใดๆ ในสังคมออนไลน์รวมตลอดถึงเพื่อป้องปรามมิให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นใด แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการใส่ความผู้อื่น หรือการทำการตลาดด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่เกิดกับบริษัทฯ อีกต่อไปด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews