ฉีดไฟเซอร์นักเรียนกลุ่มเสี่ยง ไม่พบผลข้างเคียง เร่งฉีดเพิ่มก่อนเปิดเรียน
รองโฆษก แจงฉีดไฟเซอร์เด็กกลุ่มเสี่ยง ยังไม่พบผลข้างเคียง เตรียมขยายฉีดนักเรียน นักศึกษา ทั่วไป ก่อนเปิดเทอม
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวรัชดา ธนาดิเรก เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุ 12-18 ปี ทุกคน ทุกสังกัด จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน เริ่มฉีดวัคซีนเดือนตุลาคม 2564 ผ่านสถาบันการศึกษา ครอบคลุม ทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมรองรับกรณีที่อาจจะมีการเปิดภาคเรียน
ขณะที่ กทม. รายงานการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีนักเรียน/เยาวชน กลุ่มเสี่ยง 7 โรค ในกทม. ได้รับ 1 เข็มจำนวน 1,681 รายและได้รับครบ 2 เข็ม จำนวน 614 ราย ไม่พบการรายงานผลข้างเคียง ซึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้มีการสำรวจจำนวนนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองยินยอมฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะทำการฉีดวัคซีนภายในพื้นที่สถาบันการศึกษาในจังหวัดนั้น ๆ
ขณะเดียวกัน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้รวบรวม จำนวนนักเรียนที่พักอาศัยในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาต้นสังกัด เพี่อเสนอต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้จัดสรรยอดวัคซีนเพิ่มรายจังหวัด และให้สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้กำหนดวัน เวลา และสถานที่สำหรับการฉีดวัคซีนของนักเรียนกลุ่มดังกล่าวด้วย
ในส่วนกรุงเทพมหานคร รายงานมีเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ที่เป็น 7 โรคกลุ่มเสี่ยงในกรุงเทพมหานคร และเด็กนักเรียนในสังกัดกทม. และสังกัดอื่นๆ มีการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนกว่า 5,000 คน ฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 2,000 คน ยังคงเหลืออีก 3,000 คน ซึ่งกทม.ก็จะได้เร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
จากการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน เยาวชนใน กทม. กว่า 2,000 รายที่ผ่านมา ยังไม่พบการรายงานผลข้างเคียง ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลนำมาให้บริการแก่เด็กนักเรียน/ เยาวชน ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ใหญ่ ผ่านการรับรองจากสำนักงานองค์การอาหารและยา องค์การอนามัยโลก และมีหลักฐานทางวิชาการที่บ่งชี้ว่า มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย จึงขอให้ความมั่นใจแก่น้องๆ นักเรียน เยาวชน อย่างไรก็ตาม การให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ปกครองก่อนด้วย
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความตั้งใจที่จะฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 12-18 ปี ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครทุกคน ไม่เฉพาะที่เป็น 7 โรคกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่อาจจะมีการเปิดภาคเรียน หากสามารถฉีดวัคซีนให้เด็กครบทุกคนหรือ 70% ขึ้นไปก่อนเปิดภาคเรียน จะเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและลดความกังวลใจของเด็ก และผู้ปกครอง
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ทำการสำรวจข้อมูลนักเรียนในสังกัดที่มีอายุระหว่าง 12 - 18 ปี ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนเกี่ยวกับการรับวัคซีนโดยสำรวจผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ดังนี้
ผู้ที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มอายุ 12 - 13 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม กลุ่มอายุ 13 - 15 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม กลุ่มอายุ 15 - 18 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัม
ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่
1. โรคอ้วน ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น
2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews