ผู้ว่าฯกทม. ติดตามสถานการณ์น้ำ ยันไม่เหมือนปี 54
จากสถานการณ์ฝนตกหนัก ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ล่าสุด ผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่คอยติดตามสถานการณ์น้ำ
3ต.ค.64 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงเรือตรวจติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือในพื้นที่ กทม. พร้อมตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ใต้สะพานพระราม 7 เขตบางพลัด ถึงชุมชนโรงสี เขตยานนาวา โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ ผู้บริหารเขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อาจมีระดับน้ำสูงขึ้น รวมทั้งป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ยืนยันว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี 54 โดยกทม. ได้เตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมต่าง ๆ โดยพร่องน้ำในคลองเพื่อรองรับน้ำ สร้างธนาคารน้ำ(water bank) สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) ขุดลอกคลอง ลอกท่อระบายน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบางนา ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากปี 54 เป็นต้นมาได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางและเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลาย
ทั้งนี้ วันนี้(3 ต.ค.64) เวลา 06.00 น. ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่อำเภอบางไทรตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านกทม. เฉลี่ย 3,052 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม. อยู่ที่ระดับ 1.85 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครอยู่ประมาณ 1.15 เมตร จึงยังไม่ได้ผลกระทบจากน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนเจ้าพระยาและจากน้ำขึ้นเต็มที่แต่อย่างใด โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 19.04 น. ที่ระดับ +1.15 ม.รทก.
อนึ่ง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก คาดว่ามีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 1-5 ต.ค.64 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews