ขอแสดงความเสียใจ "ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว" ผู้สร้างตำนานหนุมาน เสียชีวิต
ขอแสดงความเสียใจ "ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว" ศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างตำนานหนุมานและโขนตัวลิง เสียชีวิต เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด
นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของวงการโขนและนาฏศิลป์ไทย เพจเฟซบุ๊ก ดาราภาพยนตร์ ได้รายงานข่าวว่า วงการโขนนาฏศิลป์ไทยสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่กับการจากไปของ "ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ - โขน) พุทธศักราช 2551
"ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว" ถึงแก่กรรมเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 21.45น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล สิริรวมอายุ 79 ปี
โดยมีกำหนดการบำเพ็ญกุศลศพ "ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว" ดังนี้ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลา 17.00 น. ณ ศาลา 6 และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 4-8 ตุลาคม 2564 เวลา 18.00น. ณ ศาลา 6 #วัดเจ้าอาม บางขุนนนท์
โดยครอบครัวจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน และ #กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป
ประวัติโดยสังเขป ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ผู้สร้างตำนานหนุมาน เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 เป็นศิลปินที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในการแสดงโขนลิงเป็นอย่างมาก จึงได้รับให้แสดงตั้งแต่ เขนลุง สิบแปดมงกุฎ สุครีพ พาลี องคต หนุมาน แสดงเป็นหนุมานแทบทุกตอน อาทิ ตอนหนุมานอาสา ตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา รวมทั้งได้แสดงละครและรำเบ็ดเตล็ด อาทิ รำกราวอาสาในละครเรื่องมโนห์รา รำซัดชาตรี รำสี่ภาค รำเหย่อย รำโคม แสดงละครเรื่องอานุภาพแห่งความรัก อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น
นอกจากงานด้านการแสดงโขนแล้ว ผู้สร้างตำนานหนุมาน ยังได้สร้างสรรค์ผลงานมากมาย อาทิ ประดิษฐ์ท่ารำฉุยฉายพาลี รำกราวทหารนเรศวร รำเพลงปลุกใจ ประดิษฐ์ท่าเต้นโขนลิงประกอบการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ของกรมศิลปากร ชุดโขนวานรพงศ์ ในงานพระราชพิธีพระเมรุพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ตลอดจนเป็นผู้กำกับการแสดงโขนชุดพิเภกสวามิภักดิ์ ณ โรงละครแห่งชาติ ครูผู้สอนโขนตัวลิง เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักศึกษาตามสถานศึกษาต่าง ๆ พ่อครูประสิทธิ์ ท่านเป็นศิลปินผู้ผดุงรักษาไว้ด้วยความงามตามแบบแผนของศิลปะการแสดงโขนที่มีบทบาทการแสดงโขนลิงทุกตัว ในเรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะบทของทหารเอกของกองทัพพระราม “หนุมาน” ซึ่งไม่เผยใบหน้า ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ - โขน) พุทธศักราช 2551
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews