กรมชลฯ เตือน 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ระวังน้ำหลากและดินถล่ม
กรมชลประทาน ย้ำ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากและดินถล่ม
วันที่ 5 ตุลาคม 2564 มีรายงานว่า นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เผยจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 5 - 9 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง
ทางกรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2564 ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 6 - 10 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากและดินถล่ม ดังนี้
จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอเมือง อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี
จังหวัดชุมพร ได้แก่ อำเภอท่าแซะ และอำเภอปะทิว
จังหวัดระนอง ได้แก่ อำเภอเมือง และอำเภอกะเปอร์
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจเกิดน้ำล้นทางระบายน้ำล้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ จับตาเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร และบริเวณจุดเสี่ยงหรือพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่เกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ
สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำโดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ รวมไปถึงการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ มีการติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังขอให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง ให้สามารถปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews