กอนช.เผยชื่อจังหวัดระวังน้ำหลาก ดินถล่ม 13 - 20 ต.ค. นี้
กอนช.เผยชื่อจังหวัดระวังน้ำหลาก ดินถล่ม 13 - 20 ต.ค. นี้ จึงขอเน้นย้ำยังคงให้ติดตามสถานการณ์ซึ่งยังมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง
มีรายงานว่ากองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)ออกประกาศฉบับที่ 23/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง โดยระบุชื่อจังหวัดระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ตามรายละเอียดในประกาศต่อไปนี้
ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 3 วันที่ 12 ตุลาคม 2564 พายุโซนร้อนกำลังแรง “คมปาซุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 13 - 14 ตุลาคม 2564 โดยจะอ่อนกำลังลง และทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ประกอบกับในช่วงวันที่ 12 - 16 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งได้ประกาศพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 11 – 16 ตุลาคม 2564 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 22/2564 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ จึงขอเน้นย้ำยังคงให้ติดตามสถานการณ์ซึ่งยังมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 13 – 20 ตุลาคม 2564 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ภาคใต้ จังหวัดระนอง และพังงา
2. เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสกลนคร) ภาคตะวันออก (จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) ภาคกลาง (จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี) ภาคตะวันตก (จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี)
3. เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
3.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำมูล อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก และอำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
3.2 ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี แม่น้ำลพบุรี อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี แม่น้ำท่าจีน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
3. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
5. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ประกาศ ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2564