แจ้งเตือนประชาชน "เขื่อนราษีไศล" ปักธงเเดงแล้ว
จ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังเตรียมอพยพเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ปักธงเเดงแล้ว
24 ต.ค. 64 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ล่าสุดเขื่อนราษีไศลติดธงเเดงไว้เหนือเขื่อน เป็นสัญลักษณ์ วิกฤต อันตราย ระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤติ เริ่มล้นตลิ่ง แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังเตรียมอพยพเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง ให้ระวังภัยจากน้ำท่วมไหลหลาก
จากการที่เกิดฝนตกหนัก ทำให้มวลน้ำมหาศาลจากจ.นครราชสีมา ส่งผลให้น้ำที่เขื่อนราษีไศลมีระดับน้ำสูงขึ้น โดย 24ต.ค.64 ระดับน้ำของเขื่อนราษีไศลอยู่ที่ 119.97 ร.มทก. ระดับน้ำสูงขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ 24 ซม. โดยเขื่อนราษีไศล ได้แขวนประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 64 เพื่อให้น้ำไหลตามธรรมชาติ ซึ่งสภาพน้ำยังไหลแรงมาก
สำหรับเขื่อนราษีไศล เป็นเขื่อนคอนกรีต มีบานประตูระบายน้ำ 7 บาน กั้นแม่น้ำมูลที่บ้านห้วย-บ้านดอน ตั้งอยู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เขื่อนเริ่มเก็บกักน้ำในปี พ.ศ. 2536 ประวัติเขื่อนราษีไศล เป็นเขื่อนในกลุ่มโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน เพื่อทำการผันน้ำจากแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล มาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 4.98 ล้านไร่ในเขตภาคอีสาน โดยใช้งบประมาณกว่า 2.28 แสนล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างกว่า 2 ปีเขื่อนราษีไศล ก่อสร้างโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2532 ให้ก่อสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำมูลที่บริเวณบ้านห้วย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นฝายยางเก็บน้ำไม่เกินตลิ่ง ตั้งงบประมาณไว้ 140.97 ล้านบาท แต่มีการดำเนินการก่อสร้างจริงในระหว่างปี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2536 และก่อสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก งบประมาณ 871.9 ล้านบาทแทน
ด้านกรมชลประทาน เดินหน้าติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มอีก 100 เครื่อง เร่งระบายน้ำในลำน้ำมูลลงโขง ปริมาณฝนที่ตกชุกและหนาแน่นจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน เตี้ยนหมู่ และ คมปาซุ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เอ่อล้นตลิ่งในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี กระทบต่อพื้นที่การเกษตรที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ชุมชนริมน้ำบางแห่ง ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) เตรียมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำมูลเพิ่มอีก 100 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น ตามข้อสั่งการของนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน
ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ปรับแผนการจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี - มูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ที่มีแนวโน้มจะเพิ่งสูงขึ้นอีกในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ จากอิทธิพลของพายุคมปาซุ และมวลน้ำชุดแรกที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำมูลบริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,384 ลบ.ม./วินาที อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริม 2 ฝั่งแม่น้ำมูลในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ
กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการจัดจราจรน้ำแม่น้ำชี-มูล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น ป้องกันไม่ให้มวลน้ำก้อนใหญ่ของทั้ง 2 ลำน้ำไหลมาบรรจบกัน ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบมากกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการเร่งระบายน้ำก้อนใหญ่ในแม่น้ำมูลไปลงแม่น้ำโขงก่อนเป็นลำดับแรก และเมื่อน้ำก้อนใหญ่จากแม่น้ำชี จะไหลผ่านสถานี M.7 จึงจะเริ่มหน่วงน้ำในลำน้ำมูลตอนบน เพื่อลดยอดปริมาณน้ำสูงสุดที่จะไหลผ่านในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็วต่อไป
"ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) และสำนักเครื่องจักรกล ได้วางแผนติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมอีก จำนวน 100 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร
เพื่อเร่งผลักดันน้ำให้ไหลผ่านแก่งสะพือได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับเตรียมพื้นที่ไว้รองรับน้ำที่จะหลากลงมาอีกในระยะต่อไป จากเดิมที่ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไปแล้ว 100 เครื่อง พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที รวมไปถึงการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขาอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
ขอบคุณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง สนง.ชป.ที่8 เขื่อนราษีไศล-เขื่อนหัวนา
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews