อู้ฟู่ 3ผู้ผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่ ได้กำไรนาทีละ2ล้านบาท
ตัวเลขคาดการณ์ 3ผู้ผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่ ไฟเซอร์, ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ทำกำไรรวมกันนาทีละ 65,000 ดอลลาร์ (นาทีละ2 ล้านบาทไทย)
กลุ่มพันธมิตรวัคซีนเพื่อประชาชน หรือ PVA เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ล่าสุด พบว่า ไฟเซอร์, ไบออนเทค และโมเดอร์นา 3 ผู้ผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่ ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ทำกำไรจากการขายวัคซีนรวมกันประมาณ 65,000 ดอลลาร์ต่อนาที หรือราว 2.1 ล้านบาท (กำไรนาทีละ 2 ล้านบาท)ขณะที่พลเมืองในกลุ่มประเทศยากจนส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน
PVA ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรที่สนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลรายได้ของทั้ง 3 บริษัท และพบว่าผู้ผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 รายมีผลกำไรก่อนหักภาษีรวมกัน 34,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือคิดเป็น 1,000 ดอลลาร์ต่อวินาที (กำไรวินาทีละกว่า 3.1 หมื่นบาท), 65,000 ดอลลาร์ต่อนาที และ 93.5 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3,000 ล้านบาทต่อวัน
“เป็นเรื่องน่าละอายที่บริษัท 2-3 แห่งทำกำไรได้เป็นล้านๆ ดอลลาร์ทุกชั่วโมง ขณะที่ประเทศยากจนยังมีพลเมืองฉีดวัคซีนครบโดสแค่ 2%” มาซา เซยูม เจ้าหน้าที่ PVA ประจำภูมิภาคแอฟริกา ระบุ
“ไฟเซอร์, ไบออนเทค และโมเดอร์นา ใช้กลยุทธ์ผูกขาดเพื่อทำสัญญาขายวัคซีนที่ได้กำไรสูงสุดกับรัฐบาลที่ร่ำรวยที่สุด ขณะที่ประเทศรายได้น้อยถูกทอดทิ้ง”
.
PVA เผยด้วยว่า ไฟเซอร์และไบออนเทคจัดส่งวัคซีนไปยังกลุ่มประเทศรายได้น้อยไม่ถึง 1% ของวัคซีนที่ผลิตได้ ขณะที่โมเดอร์นาจัดส่งเพียง 0.2% ซึ่งแตกต่างจาก “แอสตร้าเซนเนก้า” และ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” ที่กระจายวัคซีนในรูปแบบไม่แสวงผลกำไร แม้ทั้ง 2 บริษัทจะประกาศแล้วว่าเตรียมปรับนโยบายเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลง
PVA ยังตำหนิไฟเซอร์, ไบออนเทค และโมเดอร์นา ที่รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ แต่กลับปฏิเสธที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตยาในกลุ่มประเทศรายได้น้อย-ปานกลางผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO)
“หากพวกเขายอมทำเช่นนั้นก็จะช่วยให้อุปทานเพิ่มสูงขึ้น ราคาวัคซีนถูกลง และสามารถปกป้องชีวิตผู้คนไว้ได้อีกนับล้าน ๆ”
“ในกรณีของโมเดอร์นา บริษัทยังคงเพิกเฉยต่อแรงกดดันของทำเนียบขาว และข้อเรียกร้องจาก WHO ที่ขอให้ร่วมมือและเร่งรัดแผนเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน mRNA ในแอฟริกาใต้”
นอกจากนี้ PVA ยังอ้างคำพูดของ อัลเบิร์ต เบอร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์ ซึ่งเคยระบุว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็น “เรื่องไร้สาระที่อันตราย” (dangereous nonsense) และแย้งว่า การที่ WHO อนุมัติการใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีนโควาซิน (Covaxin) ของอินเดียเมื่อต้นเดือน พ.ย. เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัคซีนมากพอเช่นกัน
PVA ซึ่งมีสมาชิกรวม 80 องค์กร เช่น African Alliance, Global Justice Now, Offam และ UNAIDS เรียกร้องให้ผู้ผลิตยาทั่วโลกยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ตามความตกลง TRIPS Waiver ขององค์การการค้าโลก (WTO)
ขณะนี้มีกว่า 100 ประเทศที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว แต่ก็ยังมีบางประเทศที่คัดค้าน เช่น สหราชอาณาจักร และเยอรมนี
ขอบคุณ
nationphoto
กรุงเทพธุรกิจ