"หมอธีระ"เผย รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการคงค้าง "Long COVID"
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มี "อาการ Long COVID"
จากกรณี "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุถึง รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการคงค้าง (Long COVID) โดยระบุไว้ว่า
รูปแบบการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการคงค้าง (Long COVID)
Decary S และคณะจากแคนาดา ลองทบทวนแนวคิดและประสบการณ์ในการจัดระบบดูแลผู้ป่วย Long COVID จากงานวิจัยทั่วโลก โดยคัดกรองจากกว่า 2,000 ชิ้น
มีงานวิจัยที่กล่าวถึงรูปแบบการดูแลผู้ป่วย Long COVID 12 รูปแบบ
มีทั้งที่จัดระบบดูแลโดยอาศัยระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care) ไปจนถึงระบบบริการที่ดูแลแบบเฉพาะทาง (Specialized clinics)
ทั้งนี้สิ่งที่ระบบดูแลของทั่วโลกมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันคือ
หนึ่ง ผู้ป่วยที่มีอาการคงค้าง (Long COVID) นั้นมักต้องการการดูแลจากแพทย์หลากหลายแขนง และบุคลากรสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งรวมไปถึงบริการทางสังคมอื่นๆ ด้วย (Multidisciplinary team)
สอง จำเป็นต้องมีการประเมินอาการ โดยใช้เครื่องมือหรือแบบประเมินที่มาตรฐาน เพื่อที่จะประเมินได้อย่างครอบคลุมครบถ้วน เนื่องจากอาการคงค้างนั้นมีหลากหลาย และมิได้มีผลต่อด้านสุขภาพกายแต่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน
สาม ระบบการดูแลที่ดีจำเป็นต้องมีกลไกการติดตามผล หรือ Follow up ที่มีประสิทธิภาพ
และสี่ ด้วยสถานการณ์ระบาดที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง การดูแลแบบทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการติดต่อสื่อสาร และดูแลผู้ป่วยนั้น จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่ารูปแบบการจัดบริการทางการแพทย์แบบดั้งเดิมที่ต้องมาที่โรงพยาบาลเป็นหลัก
...ประเทศไทยจำเป็นต้องวางแผนเรื่องนี้ไว้ด้วย เพราะจำนวนการติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง
หากระบบไม่พร้อมที่จะรับมือ หรือไม่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพโดยรวมที่มีปริมาณคนไข้โรคอื่นๆ มหาศาลอยู่แล้ว และส่งผลกระทบต่อกำลังคนในระบบอีกด้วย
ด้วยรักและห่วงใย
อ้างอิง
Decary S et al. Care Models for Long COVID. medRxiv. 19 November 2021.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Tnews