"หมอธีระ" คาดเดา คุณสมบัติของ "โอไมครอน" พร้อมตอบข้อสงสัย
ยังคงเป็นที่จับตามองกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" ที่ตอนนี้ได้ระบาดแล้วในหลายประเทศ โดย "หมอธีระ" คาดเดา คุณสมบัติของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เผยถึง สถานการณ์โควิด-19 ว่า...
"คาดเดา"คุณสมบัติของ Omicron
ท่ามกลางความกังวลทั่วโลกเกี่ยวกับสายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ Omicron ว่าจะทำให้เกิดการระบาดเร็ว กระจายเป็นวงกว้าง
คำถามในใจของทุกคนตอนนี้มี 3 คำถามหลักคือ
1. มันจะแพร่ไวขึ้น ติดง่ายขึ้นไหม
2. มันจะทำให้ป่วยรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้มากขึ้นหรือเปล่า
3. มันจะดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่เราใช้กันทั่วโลกตอนนี้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด
เรื่องของป่วยรุนแรงและเสียชีวิตนั้น คงต้องสังเกตจากการระบาดว่าเมื่อมีคนติดเชื้อมากขึ้นจะมีลักษณะการป่วยและอัตราการเสียชีวิตเป็นอย่างไร ด้วยข้อมูลที่แชร์จากแอฟริกาใต้ตอนนี้ยังมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่จำกัด จึงต้องใช้เวลาติดตามต่อไปอีกระยะ
แต่เรื่องสำคัญคือ การแพร่ การติด และการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
Trevor Bedford จาก Fred Hutchison Cancer Research Center ที่อเมริกา และทีมงานซึ่งศึกษาด้านไวรัส ได้ทำการวิเคราะห์คาดเดาคุณสมบัติของ Omicron
จากข้อมูลของสายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม/บรรพบุรุษคือ อู่ฮั่น (ancestral) จนมาถึงสายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า และมิว จะพบว่ามีแนวโน้มที่จะเห็นความสัมพันธุ์ระหว่างศักยภาพในการแพร่เชื้อ (transmissibility) กับการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
กล่าวคือ หากเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมาก อาจมีแนวโน้มที่จะมีศักยภาพในการแพร่เชื้อไม่มากนัก เช่น ที่เราเห็นจากสายพันธุ์เบต้า และมิว
ในขณะที่เดลต้านั้นแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นหลายเท่า แต่การดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนั้นไม่มากนัก
ทั้งนี้หากดูจากตำแหน่งการกลายพันธุ์ของ Omicron ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50 ตำแหน่ง และมีการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนามเปลือกนอกของไวรัสมากถึง 32 ตำแหน่ง จึงมีความเป็นไปได้ว่า Omicron น่าจะมีคุณสมบัติสูงในการดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มี ในขณะที่มีการกลายพันธุ์ในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนามในจำนวนไม่มากนัก จึงคาดเดาว่าความสามารถในการแพร่หรือติดนั้นอาจไม่มากเท่าเดลต้า
อย่างไรก็ตาม การที่เห็นการแพร่กระจายของ Omicron ไปอย่างรวดเร็วจากทวีปแอฟริกาไปแทบทุกทวีปภายในเวลาไม่นานนั้น น่าจะเป็นไปได้ว่า เกิดจากการที่ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่น่าจะสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ผนวกกับศักยภาพในการแพร่ของตัวเชื้อที่ไม่ได้ต่ำ ซึ่งอาจพอๆ กับสายพันธุ์อื่น ร่วมกับพฤติกรรมการติดต่อพบปะกันโดยไม่ได้ป้องกันตัว ทำให้สุดท้ายแล้วทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปได้เร็ว
ที่แลกเปลี่ยนมาทั้งหมดนั้นคงต้องรอติดตามดูงานวิจัยที่จะพิสูจน์ให้เห็นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ว่าจะเป็นไปตามที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสในต่างประเทศได้วิเคราะห์หรือไม่
ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด สิ่งที่คนไทยทุกคนควรทำคือ การติดตามความรู้ รับรู้และตระหนักถึงสถานการณ์รอบตัว และเตรียมพร้อม รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า
เหนือสิ่งอื่นใดคือ การป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า และเว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตรเสมอ
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เน้นความปลอดภัย ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงต่างๆ
ด้วยรักและห่วงใย
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews