สภากาชาดไทย ชี้แจง ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด บริจาคเลือดได้หรือไม่
สภากาชาดไทย ชี้แจงแล้วหลังมีข่าวลือ เลือดของผู้บริจาคที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสีดำคล้ำ ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้
จากกรณีที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ วิกฤติเริ่มขาดแคลนเลือด แต่เนื่องจากเลือดของผู้บริจาคที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสีดำคล้ำ ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ ทำให้ผู้บริจาคโลหิตและประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและความกังวล ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลที่ต้องใช้โลหิตในการรักษาผู้ป่วย เป็นอย่างมาก
รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ขอชี้แจงว่า ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยขอชี้แจง 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เลือดของผู้บริจาคโลหิตที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 มีสีดำคล้ำ ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้
ไม่เป็นความจริง ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อและร่างกายจะเปลี่ยนแปลงเป็นภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ อาทิ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่ทำให้สีของโลหิตมีสีดำคล้ำและเกิดการเปลี่ยนแปลงสีแต่อย่างใด เพราะโลหิตเป็นของเหลว “สีแดง” ที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดทั่วร่างกาย
โดยฮีโมโกลบิล ทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซค์จากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปขับออกที่ปอด ทำให้เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดแดงมีระดับออกซิเจนปริมาณสูง เลือดจึงมีสีแดงสด ส่วนเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดดำมีปริมาณออกซิเจนลดลงและมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์สูงกว่า เลือดจึงมีสีแดงคล้ำ เมื่อบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่จะเจาะเก็บโลหิตจากข้อพับแขนที่เส้นเลือดดำ ทำให้โลหิตบริจาคมีสีแดงคล้ำกว่าเส้นเลือดจากหลอดเลือดแดง เป็นปกติทุกคน
ดังนั้น ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ทำให้โลหิตมีสีดำคล้ำ และไม่เป็นอันตรายต่อผู้รับโลหิต
ประเด็นที่ 2 ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเลือดดี
บิดเบือน เพราะไม่ว่าผู้ที่ได้รับหรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเลือดของบุคคลนั้นเป็นเลือดดีหรือไม่ดี เหตุผล เนื่องจากในการบริจาคโลหิตทุกครั้ง ผู้บริจาคโลหิตต้องคัดกรองสุขภาพด้วยตนเองจากแบบสอบถาม และคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ ที่สามารถถ่ายทอดทางโลหิตไปสู่ผู้ป่วยได้ จากบุคลากรทางการแพทย์ จากนั้นโลหิตทุกยูนิตจะถูกนำไปส่งตรวจคัดกรองคุณภาพโลหิตตามมาตรฐานทางห้องปฎิบัติการก่อนจ่ายให้กับโรงพยาบาล เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยต่อไป
ขอบคุณ FB : ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก Tnews