เสื้อผ้าแห่งอนาคต แม้ถูกฉีกขาด ก็สามารถคืนชีพให้ตัวเองไดั
คณะนักวิทยาศาสตร์จีนได้พัฒนาวัสดุยืดหยุ่นที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างรวดเร็วจากการใช้แบคทีเรีย ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นอุปกรณ์สวมใส่ที่ช่วยควบคุมแขนขาเทียมหรือที่เรียกว่า “เอ็กโซสเกลเลตัน” (exoskeleton) ได้
ผลการศึกษาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ เคมิคอล ไบโอโลจี (Nature Chemical Biology) เมื่อวันพุธ (22 ธ.ค.) ระบุว่าคณะนักวิจัยผสมแบคทีเรียเชิงวิศวกรรม 2 ชนิด ในสัดส่วนที่กำหนดอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อสร้างผ้าที่มีลักษณะคล้ายไฮโดรซอล (hydrosol) ซึ่งเป็นของเหลวชนิดหนึ่ง
คณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงเซินเจิ้น(SIAT) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ทำการเชื่อมชิ้นส่วนแอนติเจนเข้ากับเนื้อเยื่อของแบคทีเรียตัวหนึ่ง และเชื่อมชิ้นส่วนแอนติบอดีชิ้นหนึ่งเข้ากับแบคทีเรียอีกตัวหนึ่ง
ผลการศึกษาพบว่าชิ้นส่วนแอนติเจนและชิ้นส่วนแอนติบอดีสามารถยึดติดกันได้ ทำให้ผ้าที่สร้างจากแบคทีเรียสามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกฉีกขาด
คณะนักวิจัยใช้ประโยชน์จากความสามารถในการซ่อมแซมที่รวดเร็วของวัสดุดังกล่าวเพื่อสร้างเซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าชีวภาพและสัญญาณชีวกลศาสตร์จากร่างกายของมนุษย์ โดยการวิจัยพบว่าการนำไฟฟ้าของวัสดุผ้ายังคงความเสถียร แม้ผ่านการยืดและพับซ้ำหลายครั้ง วัสดุดังกล่าวจึงสามารถจับสัญญาณไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อได้อย่างแม่นยำและประเมินเจตนาการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ได้ในทันที
ผลการศึกษารายงานว่าอุปกรณ์สวมใส่ได้ที่สร้างจากวัสดุชนิดใหม่นี้สามารถควบคุมเอ็กโซสเกเลตันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเซ็นเซอร์แบบเดิม
นอกจากนั้น คณะนักวิจัยยังทำการปรับแต่งแบคทีเรียด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาบางชนิด ซึ่งทำให้วัสดุดังกล่าวสามารถย่อยสลายยาฆ่าแมลงให้เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่ำได้
(แฟ้มภาพซินหัว : การทดสอบหุ่นยนต์เอ็กโซสเกลเลตันแบบยืดหยุ่น ที่สถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงเซินเจิ้น (SIAT) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ในนครเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน วันที่ 11 ธ.ค. 2018)