กรมอุตุฯ ออกแจง เดือน มกราคม 65 เมืองไทยฤดูฝนมาเร็ว จริงไหม
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่อง "ลานีญาเพิ่มกำลัง ทำฤดูฝนมาเร็ว ช่วงเดือน ม.ค. 65" ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แล้ว
ข่าววันนี้ 28/12/64 กรณีการโพสต์ให้ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ลานีญาเพิ่มกำลัง ทำฤดูฝนมาเร็ว ฝุ่นพิษหนักสุดในเดือน ม.ค. 65 ทาง กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า
ข้อมูลดังกล่าว ไม่ได้มีที่มาจากข้อมูลของ กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นการอธิบายข้อมูลจากแหล่งที่มาจากที่แหล่งข่าวอ้างถึง ซึ่งเป็นข้อมูลจากแบบจำลองของศูนย์ International Research Institute for Climate and Society (IRI) และ APEC Climate Center และได้เผยแพร่สู่สาธารณะ ให้เข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลจากทั้ง IRI และ APEC Climate center เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากข้อมูลหลายๆ แหล่งที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้ประกอบในการติดตามและคาดหมายลักษณะอากาศ
อย่างไรก็ตามประเทศไทยอยู่ในบริเวณเขตร้อน สภาพอากาศขึ้นกับปัจจัยหลายประการทั้งปัจจัยตามฤดูกาลสภาพแวดล้อม และปัจจัยจากปรากฏการณ์ขนาดใหญ่อื่นๆ ในมหาสมุทรเช่นปรา กฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden Julian Oscillation (MJO) ปรากฏการณ์ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ซึ่งหมายรวมทั้งปรากฏการณ์เอลนิโญ และลานีญา ด้วย การคาดหมายสภาพอากาศโดยพิจารณาเพียงปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง เพียงปรากฏการณ์เดียวนั้น ทำให้ผลการคาดหมายมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ อีกทั้งการคาดหมายล่วงหน้าระยะนานจะพิจารณาจากแนวโน้มและความน่าจะเป็นว่ามีโอกาสจะเกิดเหตุการณ์ใดมากที่สุดและปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมามีผลต่อสภาวะอากาศประเทศไทยอย่างไร
จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้รับผิดชอบโดยตรงจะเกิดประโยชน์และมีความถูกต้องมากกว่า โดยจากการเฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ/ลานีญา ของกรมอุตุนิยมวิทยาใน ช่วงเดือนมกราคม 2565 จะยังคงอยู่ในช่วงปรากฏการณ์ลานีญา และคาดว่าจะมีกำลังอ่อนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน 2565 จากนั้นมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่สภาวะปกติต่อไป โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์2565 คาดว่า ปริมาณฝนของประเทศไทยจะใกล้เคียงกับค่าปกติยกเว้นบริเวณภาคใต้จะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ส่วนอุณหภูมิของประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีค่าใกล้เคียงค่าปกติ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามและเผยแพร่ ข่าวสารเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ และคาดหมายลักษณะอากาศระยะนานให้ประชาชนทราบผ่านเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา