"หมอธีระ"เผย วิธีป้องกันการติดเชื้อโควิด "โอมิครอน" ในบ้าน
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้ออกมา ระบุ ถึงไวรัสโควิด-19 โอมิครอน กลางม.ค.นี้ ได้เห็นแน่ พร้อมบอกวิธีป้องกันการติดเชื้อในบ้าน
จากกรณี "หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุ ถึงไวรัสโควิด-19 โอมิครอน โดยมีการระบุไว้ว่า
...อัพเดต Omicron "โอมิครอน"
ไทยเรานั้นข้อมูลชัดเจนว่า Omicron กระจายไปทั่วประเทศแล้ว มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละภาค และจะใช้เวลาในการขยายวงระบาด ยิ่งจำนวนพื้นฐานเยอะ โอกาสทวีความรุนแรงย่อมรวดเร็วกว่า เป็นไปตามธรรมชาติที่เราเห็นจากนานาประเทศทั่วโลก
หลังกลางมกราคม มีโอกาสสูงที่จะเห็นจำนวนติดเชื้อใหม่แต่ละวันที่เพิ่มขึ้นมาก
การที่จะชะลอและบรรเทาได้ หนีไม่พ้นเรื่องการสร้างความตระหนักให้กับทุกคน ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง รวมกลุ่ม คลุกคลี ใกล้ชิด ไม่ว่าจะกินข้าวด้วยกัน ไปตะลอนเที่ยวกัน ประชุมเจอหน้ากัน รวมถึงร้องเพลงเต้นรำ เฮฮาปาร์ตี้ ดื่มเหล้าเบียร์ไวน์กรึ่มไปด้วยกัน แม้แต่วงพนันอันหลากหลายที่เป็นหนึ่งในเหตุวิกฤติเหมือนอดีตที่ผ่านมา
และหมั่นตรวจตราตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากไม่สบาย ให้รีบตรวจ อาการคล้ายหวัดทั้งหลาย เป็นไปได้ควรตรวจโควิดด้วยเสมอ เพื่อตัดวงจรการระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ
ใส่หน้ากากเสมอ ยามออกจากบ้าน สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า รักษาระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร
แต่นั่นคือสิ่งที่ประชาชนจะทำ
สิ่งที่รัฐควรทำอย่างยิ่งคือ ทบทวนนโยบายที่นำความเสี่ยงต่อการระบาดหนักขึ้นเข้ามาสู่ประเทศ คงต้องยอมรับว่าหลายพื้นที่ท่องเที่ยว กล่องทราย ล้วนได้รับผลกระทบชัดเจน ดังที่เห็นที่ภูเก็ต และอื่นๆ นี่เป็นเวลาที่ควรตัดสินใจหยุดการดำเนินการดังกล่าวไปก่อน เพื่อให้ทุกพื้นที่ได้จัดการปัญหาที่มีอยู่ ดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ภายในประเทศซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้ว จนกว่าจะผ่านพ้นระลอก 4 ของ Omicron ไปได้
นอกจากนี้ สิ่งที่จำเป็นและเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดชะตาการควบคุมโรคและระยะเวลาที่จะใช้ในการควบคุม Omicron คือ ระบบบริการตรวจคัดกรองโรค
รัฐจำเป็นต้องทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเวลา ทันต่อความต้องการ และทั่วถึงทุกพื้นที่
RT-PCR นั้นชัดเจนว่าศักยภาพจำกัดมาก คงหวังยาก
แต่ ATK นั้น โอกาสหลุด เกิดผลลบปลอมมีสูง แต่ผลบวกปลอมน้อยมากยามที่ระบาดหนัก ดังนั้นจึงควรประกาศนโยบายจัดหาชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐาน จำนวนมากเพียงพอ แจกจ่ายให้กับประชาชนทุกบ้านทุกครัวเรือน ดังที่เห็นนโยบายในต่างประเทศทำกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน จะได้ดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้
การจัดจุดบริการตรวจ ATK ดังที่เห็นในปัจจุบันนั้นดี แต่จำนวนจุดบริการไม่เพียงพอ ไม่สะดวก และจำนวนการตรวจจำกัดจำเขี่ย นี่คือสิ่งที่สามารถที่จะรีบจัดการได้ในขณะที่สถานการณ์ระบาดยังไม่เข้าสู่ระยะอัตราเร่ง
อย่าลืมว่า ธรรมชาติที่เห็นจากต่างประเทศ เวลาขึ้น จะขึ้นเร็วมาก และแทบทุกประเทศที่ระบาดหนักจะเจอปัญหาขาดแคลนชุดตรวจคัดกรอง คนไม่สามารถเข้าถึงบริการ ถึงป่วยก็รอผลตรวจกันนานเกินกว่าที่จะช่วยในการตัดสินใจปฏิบัติการใดๆ
เอาใจช่วยทุกคน...
วัคซีนช่วยลดการติดเชื้อแพร่เชื้อในบ้าน
Lyngse FP และคณะวิจัยจากเดนมาร์ก เผยแพร่ผลการศึกษาการติดเชื้อใน 53,584 คน จาก 24,693 ครัวเรือน ในช่วงที่มีการระบาดของเดลต้าในระลอกก่อน
พบว่า การฉีดวัคซีนนั้นช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ 61% (ช่วงความเชื่อมั่น 59-63%)
และช่วยลดโอกาสแพร่เชื้อได้ 42% (ช่วงความเชื่อมั่น 39-45%)
นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หากติดเชื้อ จะมีปริมาณไวรัสสูงกว่าคนที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน
อ้างอิง
Lyngse FP et al. Effect of Vaccination on Household Transmission of SARS-CoV-2 Delta VOC. medRxiv. 6 January 2022.