พ่อค้าแม่ค้าโอด "มะละกอ" ราคาพุ่ง ถุง 10 กิโล ขึ้นราคาแบบก้าวกระโดด 4-5 เท่า
มะละกอ ราคาพุ่ง ถุง 10 กิโล จาก 60 - 70 เป็น 220 - 300 ขึ้นแบบก้าวกระโดด 4-5 เท่า คนขายท้อเริ่มแบกรับต้นทุนต่อไม่ไหว
นับว่าเป็นความเดือดร้อนของคนรายได้น้อยอย่างหนัก กับวิกฤตข้าวยากหมากแพง ที่ทั้งข้าวปลาอาหาร พากันแห่ขึ้นราคาไม่ว่าจะเป็นผัก เนื้อสัตว์ หรือไข่ไก่ ที่ดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมวิกฤตโควิด ที่มีประชาชนตกงานนับล้าน ซ้ำยังมาเจอเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ผักขึ้นราคาไปแล้วระลอกหนึ่ง กระทั่งล่าสุด หมูแพงเป็นประวัติการณ์
ตามรายงานระบุว่า "หมูแพง" อาจเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งอาหารเลี้ยงสัตว์ราคาแพง ตามที่มีคนบางส่วนกล่าวอ้าง หรือแพงเพราะเกิดโรคระบาด หมู ที่เรียกว่าโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ เอเอสเอฟ (ASF) อย่างที่บางส่วนสงสัยว่ามีการปิดบังความจริง เนื่องกรมปศุสัตว์ซึ่งของบ จากรัฐบาลถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2564 เพื่อป้องกันโรคเอเอสเอฟ ก็ไม่รู้เรื่องในช่วงเวลาดังกล่าว
กรมปศุสัตว์ของบประมาณจากรัฐบาลกว่าพันล้านบาท แต่ไม่เคยยอมรับว่าเกิดโรคระบาดขึ้นในประเทศ ทั้งๆที่ในช่วงเวลานั้นมีข่าวเวียดนาม สั่งระงับการนำเข้าหมูไทย เพราะตรวจพบอหิวาต์เอเอสเอฟ ไต้หวันก็ตรวจพบเอเอสเอฟในไส้กรอกจากไทย และภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ก็เคยเตือน
อีกทั้งยังมีรายงานข่าวว่าภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มีหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ ขอให้ตรวจสอบโรคระบาดในหมูอย่างเข้มงวด หลังจากที่ได้ตรวจสอบเอเอสเอฟในห้องทดลองของสถาบันการศึกษา แต่อธิบดีกรมปศุสัตว์แถลงว่าไม่ได้รับหนังสือจากภาคีคณบดี แต่เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นข่าวอื้อฉาว จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม่ค้าร้านส้มตำ รายหนึ่ง ย่านถนนพระราม 4 ได้เปิดใจว่า ราคาสินค้าที่ขยับสูงขึ้นไม่ใช่แค่ราคาเนื้อหมู และ เนื้อไก่ เท่านั้น แต่สินค้าที่เป็นวัตถุดิบปรับขึ้นหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น ปลาดุก ที่ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 5 บาท โดยเฉพาะมะละกอแพง ที่เมื่อปีที่แล้ว มะละกอถุง 10 กิโลกรัม ราคา 60-70 บาท แต่วันนี้ราคาพุ่งไปอยู่ที่ถุงละ 220 - 300 บาท ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมและยังไม่ปรับลดลง ทำให้แม่ค้าต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว
จนถึงขณะนี้แม่ค้ายังไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนยังไม่กลับมา จึงยังไม่อยากปรับขึ้นราคาซ้ำเติมผู้บริโภค แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น หรือราคาสินค้ายังทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาเมนูละ 5 บาท หรือหากเป็นเมนูหมูน้ำตก หรือเมนูหมูอื่นๆ ก็อาจปรับขึ้น 10 บาท เนื่องจากแบกรับต้นทุนต่อไม่ไหว