ประวัติ "พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ" ผลงานสำคัญล่าสุด ก่อนเสียชีวิตหลังผ่าตัดหัวใจ
สูญเสีย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ เสียชีวิตแล้ว เปิดประวัติ"พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ" หลังผ่าตัดหัวใจ
จากกรณี วันที่ 11 ก.พ.65 ข่าวเศร้า อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเสียชีวิตแล้ว โดยล่าสุดรายงานข่าวจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าในช่วงเวลา 04.00 น.ที่ผ่านมา นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เสียชีวิตลงแล้ว หลังผ่าตัดหัวใจ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โดยในเฟซบุ๊คของ “พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเหล่าบรรดาข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ที่ได้ทราบข่าวได้เข้าไปแสดงความเสียใจ และอาลัยอย่างยิ่งต่อการสูญเสีย"พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ" นับว่าเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การบริหารงาน ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ซึ่งผลงานสำคัญล่าสุดของกรมวิชาการเกษตร ประสบความสำเร็จ หลังจากสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเข้าส้มโอผลสดจากประเทศไทยทุกสายพันธุ์ในรอบ 15 ปี
เปิดประวัติ"พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ "
-ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ประชากรและการพัฒนา) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
-ปริญญาตรี เกษตรศาสตรบัณฑิต สาขาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
"ประวัติการทำงาน พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ"
2563-ปัจจุบัน อธิบดีกรมวิชาการเกษตร
2560-2563 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
2558-2560 รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
2557-2558 ผู้ตรวจราชการ
2554-2557 สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา
2553-2554 สหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ด
สำหรับข่าวดี การที่ สหรัฐฯไฟเขียวเปิดตลาดนำเข้าส้มโอไทยไม่จำกัดพันธุ์ ส่งออกล็อตแรกสิงหาคมนี้ ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมความมุ่งมั่นอุตสาหะของหน่วยงานไทยที่เจรจาจนสามารถเปิดตลาดส้มโอได้เป็นผลสำเร็จ เป็นการสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอของไทย พร้อมกำชับให้ดูแลเรื่องมาตรฐานการส่งออกอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลไม้ไทยมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดจนสั่งการเร่งวางแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ไทยเชิงรุก ในปี 2565 โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ที่จะมาถึงนี้
กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเข้าส้มโอผลสดไม่จำกัดพันธุ์จากประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าที่กำหนดแล้ว หลังจากที่รัฐบาลไทยได้เสนอขอเปิดตลาดส้มโอพร้อมกับผลไม้อีกหลายชนิด มาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี ตั้งแต่ปี 2549 มีเงื่อนไขการส่งออก ผลผลิต ต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP (Good Agricultural Practice) โรงคัดบรรจุได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนเข้าร่วม โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออก อีกทั้ง การอนุญาตให้นำเข้าส้มโอจากไทยต้องเป็นการส่งออกเพื่อการค้าเท่านั้น คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิตส้มโอเดือนสิงหาคมนี้ ไทยจะสามารถส่งออกส้มโอล็อตแรกไปจำหน่ายยังสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ นายกฯ ให้เพิ่มการส่งออกผลไม้ของไทยผ่านการใช้ประโยชน์จากเส้นทางการขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว เชื่อมั่นว่า แนวทางที่รัฐบาลได้ดำเนินการมานี้ จะสนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 2565 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล