สั่งห้าม รพ.เอกชน "ปฏิเสธ-เก็บค่ารักษา" ผู้ป่วยโควิด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก
สบส. ชี้ผู้ป่วยโควิดยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้าม รพ.เอกชน ปฏิเสธการรักษาหรือเรียกเก็บค่ารักษา หากฝ่าฝืนก่อนมีการเปลี่ยนแปลงประกาศ สธ. มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท
จากกรณี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในขณะนี้ กลับพบว่ามีสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนทำการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโรคโควิด 19 หรือญาติ
ซึ่งต้องชี้แจงว่ายังไม่มีเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 แต่อย่างใด
ดังนั้น หากสถานพยาบาลเอกชนมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโควิด 19 หรือญาติ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกประกาศฉบับเดิม ก็จะถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการจัดทำ UCEP Plus ขึ้น เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยเฉพาะ
โดยจะกำหนดให้ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตเข้าข่ายสีเหลือง หรือสีแดง อาทิ ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจซึ่งต้องใช้ออกซิเจน หรือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU) สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลทุกแห่ง ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือสีเขียว ก็จะมีการสนับสนุนให้รักษาแบบกักตัวอยู่ ณ ที่พัก (Home Isolation) กักตัวในชุมชน (Community Isolation) หรือสถานที่กักตัวในโรงแรม (Hotel Isolation) ต่อไป
CR.ศูนย์ข้อมูล COVID-19 / กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส. กระทรวงสาธารณสุข