เปิดชัด 3 อาการหลัก "โอไมครอน" ที่พบในประเทศไทย ใครเป็นให้รีบตรวจ ATK ทันที
อัปเดต 3 อาการหลักโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่พบชัดเจนจากผู้ติดเชื้อ 53,709 ราย ในประเทศไทย เป็นแบบนี้ให้รีบตรวจ ATK ทันที
จากกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 65 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงข่าวเตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาพพื้นเอเชียทุกประเทศมีแนวโน้มสูง และคาดการณ์ว่าภายใน 1-2 สัปดาห์แนวโน้มยังทรงตัวระดับสูงในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีการติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน 15,981 ราย ในประเทศ 15,793 ราย ต่างประเทศ 188 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 จำนวน 507,763 ราย สถานการณ์ตอนนี้เหมือนเป็นเส้นตรงขึ้นมา จึงต้องติดตามการติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นในคลัสเตอร์ ในครอบครัว และชุมชน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ 166,397 ราย โดยแบ่งเป็นรักษาใน HI และ CI และ รพ.สนาม 89,326 ราย อยู่ใน รพ.มีอาการน้อย ๆ อยู่ที่ 76,275 ราย
ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอไมครอนจากข้อมูล 53,709 ราย พบว่าไม่มีอาการ 53.1% มีอาการป่วย 46.9% ส่วนใหญ่เจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ต่ำๆ เป็น 3 อาการหลักๆที่เราเจอตอนนี้ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 อาจกลายเป็นอาการหนัก เชื้อลงปอดได้ ดังนั้น สังเกตอาการแรกๆ หากมีเจ็บคอ ไอ ให้รีบตรวจ ATK ทันที
ส่วนที่ผ่านมา อาการโอไมครอนในประเทศไทยในระยะแรก จะพบ 8 อาการที่พบมากที่สุด คือ อาการไอ 54 % , เจ็บคอ 37 % , มีไข้ 29 % , ปวดกล้ามเนื้อ 15 % , มีน้ำมูก 12 % , ปวดศีรษะ 10 % , หายใจลำบาก 5 % , ได้กลิ่นลดลงมีเพียง 2 % และพบว่า 48% ไม่มีอาการ
ทั้งนี้ การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก 0.9 ปี เริ่มพบมากขึ้นเรื่อย ๆ และคนทำงาน พบปะคนก็มีโอกาสติดเชื้อสูง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ต้องเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากการติดเชื้อตอนนี้ แบ่งสีเป็นส้ม และแดง โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 13-19 ก.พ.2565) พบว่า ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม โดยสีแดงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน ส่วนสีส้มประมาณ 10-99 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งกลุ่มอายุที่ติดเชื้อพบว่า เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่มากสุดคือ วัยทำงาน และวัยเด็ก
ดังนั้น การทำงาน การทานข้าวด้วยกัน การมีกิจกรรมร่วมกัน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอาการปอดอักเสบในกลุ่มวัยต่าง ๆ นั้น กลุ่มเด็กแม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ป่วยหนักไม่เพิ่มมาก ถ้าเทียบกับอายุ 60 ปีขึ้นไปอาการจะมากขึ้น ส่วนวัยทำงานถ้าอายุ 50 กว่าปี ที่มีโรคประจำตัวก็จะทำให้เพิ่มขึ้นได้